กสทช. ผนึกสภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมกรณีเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่ และบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในพื้นที่ชายขอบเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรมและการสาธารณสุข

        เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุม 5011 ชั้น 1 อาคารหอประชุมสำนักงาน กสทช. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กสทช. 4 คน ได้แก่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย  ศ. กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต และ รศ. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ประชุมร่วมกับผู้แทนสภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม กรณีเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ประสบภัยเข้าถึงการแจ้งภัยและร้องขอความช่วยเหลือ และคงความสามารถใช้อินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมอื่น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกรณีภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้โดยเฉพาะการใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ของสภากาชาดไทยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายดังกล่าว
 
        ผู้แทนจากสภากาชาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งร่วมประชุม นำโดยนายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยและผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายจรัส รัชกุล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน และนายแพทย์พรพิทักษ์ พันธ์หล้า ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่าแอปพลิเคชั่น “พ้นภัย” ซึ่งเริ่มเปิดตัวในปี 2563 ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย และมีกระบวนการคัดกรองตรวจสอบคำร้องให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยที่ทุกหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลตรงกัน ลดความซ้ำซ้อนและความไม่ทั่วถึงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงได้ อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสาร ซึ่งในช่วงที่เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ระบบอินเทอร์เน็ตพื้นฐานอาจเกิดการขัดข้องหรือไม่สามารถใช้งานได้ สภากาชาดไทยจึงขอความอนุเคราะห์จัดหาเครื่องรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำมาใช้สื่อสารในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือใช้ในพื้นที่ห่างไกลที่สัญญาณมือถือหรืออินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง
 
        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ในพื้นที่ชายขอบที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไปไม่ถึง เพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรมและสาธารณสุข ซึ่งยังจะสามารถใช้เพื่อสนับสนุนโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
 
        นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ใช้แอป "สมาร์ท อสม." ช่วยเหลือผู้เปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ระหว่างการไปเยี่ยมเยือนผู้เปราะบางที่บ้าน สอบถามความต้องการและส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้าในเครือข่าย จึงต้องการขอรับการส่งเสริมสนับสนุนจาก กสทช. ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและค่าใช้จ่ายสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
 
        จากการประชุมดังกล่าว รศ. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและขยายตามแผนงานด้านบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO)
 
        อย่างไรก็ตาม จะรับข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงขอบเขตอำนาจตามกฎหมายทั้งในแง่ของการดำเนินการและการสนับสนุน เช่น การใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และกองทุน
 
        นอกจากนี้ กสทช. ยังจะพิจารณาประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย
 
 
 

สร้างโดย  -   (19/3/2567 14:50:30)

Download

Page views: 95