สำนักงาน กสทช. เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย เตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากพบผิดจริง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า มีประชาชนแจ้งเข้ามายังสำนักงาน สำนักงาน กสทช. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีบริษัทที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งจาก กสทช. ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนประชาชน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และข้าราชการเกษียณอายุ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ ให้ร่วมลงทุนในลักษณะธุรกิจเครือข่ายเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เติมเงิน โดยเสนอกำไรและเงินปันผล รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ และอ้างว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการลงทุนดังกล่าวสามาถทำได้อย่างที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายไตรรัตน์ ฯ กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด อย่าหลงเชื่อการชักชวนลงทุนในลักษณะดังกล่าว หรือการให้ผลตอบแทนเกินจริง เนื่องจากเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบกิจการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการในลักษณะของธุรกิจเครือข่าย หรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาต” ซึ่งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กสทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างตรวจสอบบริษัทที่มีพฤติการณ์เช่นนี้ หากพบว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สำหรับรูปแบบการโฆษณาชักชวนลงทุนดังกล่าว บริษัทใช้วิธีการส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์หรือการอบรมออนไลน์ ชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เติมเงิน โดยต้องลงทุนค่าตู้เติมเงินมือถือตู้ละ 40,000 - 50,000 บาท และจะมีเงินปันผลให้วันละ 240 บาท เป็นเวลาต่อเนื่อง 500 วัน รวมเงินได้ทั้งสิ้น 120,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจำนวน 80,000 บาท และหากลงทุนตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนศูนย์บริการ พร้อมเสนอรายได้และสวัสดิการต่าง ๆ หรือสำหรับผู้ใช้บริการซิมมือถือของบริษัท หากเติมเงินมือถือจะได้รับเงินตอบแทนอีก 2 เท่าของเงินที่เติม และหากเติมเงินติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน จะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ การโฆษณาชักชวนในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการในลักษณะของธุรกิจเครือข่าย หรือแสวงหาประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ กสทช. กำหนด
“ตอนนี้มีการชักจูงให้คนลงทุนตู้เติมเงิน ให้ลงทุนซิม ในรูปแบบธุรกิจเครือข่าย และเอาไปอ้างว่าได้รับอนุญาตจาก กสทช. ผมขอยืนยันว่าบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถทำธุรกิจเครือข่ายหรือขายตรงได้ เพราะผิดเงื่อนไขใบอนุญาต ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดต่อการดำเนินธุรกิจ ตอนนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างตรวจสอบ ผมไม่อยากให้ประชาชนหลงเชื่อการเอาตู้เติมเงิน หรือลงทุนในซิมการ์ด หรืออะไรก็แล้วแต่ในธุรกิจโทรคมนาคมเมื่อลงทุนแล้วจะได้เงินคืน ขอให้พิจารณาให้รอบคอบก่อนลงทุนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายไตรรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือต้องการแจ้งเหตุจากการถูกหลอกลวงกรณีดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 1200
สร้างโดย - (18/7/2567 15:56:33)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 1558