การประชุม The 24th Biennial Conference of the International Telecommunications Society (ITS 2024 Seoul) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

     วันที่ 25 มิถุนายน 2567 กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. ได้เข้าร่วมการประชุม The 24th Biennial Conference of the International Telecommunications Society (ITS 2024 Seoul) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2567 ณ Media Hall, Korea University และอาคาร Naver 1784 สำนักงานใหญ่ บริษัท Naver Corporation ในกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
     การประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ITS 2024 Seoul เป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ผู้กำหนดนโยบาย (Policymaker) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) นักวิชาการอิสระและภาคการศึกษา (Academic) ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประเด็นความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม ภายใต้แนวคิดหลัก (theme) ที่ว่า “ปฏิรูปทั้งภายในและภายนอก กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจำเป็นต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่” (New bottles for new wine: Digital transformation demands new policies and strategies)
     ในการนี้ กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการอภิปรายหัวข้อการสร้างเสริมความรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์: เรียนรู้จากมุมมองระดับโลกและยุทธศาสตร์เชิงความร่วมมือ Fostering AI Literacy: Learning from Global Perspectives and Collaborative Strategies ณ อาคาร Naver 1784
     การอภิปรายหัวข้อ Fostering AI Literacy: Learning from Global Perspectives and Collaborative Strategies ดำเนินรายการโดย Prof. Hitoshi Mitomo (ITS Vice-Chair, Professor, Graduate School of Asia-Pacific Studies, Waseda University, Japan) และมีผู้เข้าร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ชูยะ ฮายาชิ จากมหาวิทยาลัยนาโกย่า (Prof. Shuya Hayashi, Graduate School of Law, Nagoya University, Japan) ศาสตราจารย์ย็องซ็อน ควอน จากสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Prof. Youngsun Kwon, School of Business & Technology Management, College of Business, Korea Advanced Institute of Science and Technology, Korea) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ยู-ลิ ลิว จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ (Distinguished Prof. Yu-li Liu, School of Journalism and Communication, Shanghai University, China) และ กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. และศาสตราจารย์กิตติคุณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Prof. Emeritus Pirongrong Ramasoota, Commissioner, NBTC and Emeritus Professor, Chulalongkorn University, Thailand)
     ระหว่างการอภิปราย กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าจะได้ใช้ประโยชน์และเผชิญกับผลกระทบจาก AI ก่อนประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศที่ยังตามหลังอยู่ก็ต้องเตรียมตัวเอาไว้เช่นกัน
     สำหรับในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลางนั้น มีโครงการต่างๆ มากมายที่ส่งเสริมความสามารถและทักษะเกี่ยวกับ AI ในหลายภาคส่วนของสังคม อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ (AI literacy) ซึ่งมีความลึกซึ้งและกินความกว้างกว่าเรื่องของความสามารถและทักษะมากนักนั้นยังมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ การจะรู้เท่าทัน AI ได้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ สามารถประเมินผลกระทบในเชิงสังคมและในเชิงจริยธรรม และสามารถมีปฏิสัมพันธ์ ใช้งานและ/หรือพัฒนา AI ได้อย่างเหมาะสมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ นวัตกรรม ความปลอดภัย และการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusivity)
     หากพูดถึงความท้าทายในการสร้างการรู้เท่าทัน AI แล้ว จะต้องมองถึงปัจจัยต่างๆ ในด้านการศึกษา การตระหนักรู้ของประชาชน โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากร ข้อจำกัดด้านภาษา และนโยบายของรัฐและธรรมาภิบาล
     หากมองนโยบายในระดับประเทศจะเห็นว่า AI ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นของรัฐบาลในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่จุดเน้นในปัจจุบันเป็นเรื่องทักษะและความสามารถในการใช้งานมากกว่าความรู้เท่าทัน AI ทั้งๆ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ซึ่งรับผิดชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยได้วางแนวทางเอาไว้ว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้นำเสนอแผนของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (hub) ของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Amazon Web Service (AWS) Google และ Microsoft ได้ประกาศจะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับ data center ในประเทศไทยนายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะของแรงงานด้านดิจิทัลภายในประเทศ
     อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ โดยภาพรวมแล้ว ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน AI ในปัจจุบันยังจำกัดอยู่กับผู้คน “วงใน” ในแวดวงไอที เช่น บริษัทเทคโนโลยี นักลงทุน ผู้วางนโยบาย นักวิชาการและนักวิชาชีพในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ซึ่งในทำนองเดียวกัน ผลประโยชน์จากการลงทุนด้าน AI ก็จะไปสู่กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ก่อน แล้วจึงจะกระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่ในภายหลัง ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างจากภาวะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เราได้พบมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
     ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นจึงยังเป็นภาพรวมที่ผสมกันระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อน ความท้าทายและโอกาส กล่าวคือ ในขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37 ใน Government AI Readiness Index 2023 โดยมีคะแนนค่อนข้างดีในด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (data and infrastructure) แต่ทำคะแนนได้ไม่ดีในด้านเทคโนโลยี ในทำนองเดียวกัน ในด้านการศึกษาก็อาจจะยังตามหลังประเทศอื่นอยู่ในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีการลงทุนในเชิงอุตสาหกรรมและนโยบายด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มจำนวนบัณฑิตในกลุ่ม STEM นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้หญิงไทยในกลุ่ม STEM นับว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการประกาศนโยบาย “อว. For AI” และ ETDA ก็มีพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ มีศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic: AIGC) ถึงกระนั้น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังเป็นอุปสรรคในการสร้างประโยชน์จาก generative AI ให้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการตระหนักรู้ด้าน AI ของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับจำนวนกรณีที่ถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพที่ไทยมีมากกว่าประเทศอื่นๆ (ซึ่งหลายๆ กรณีเกิดขึ้นผ่านการใช้ generative AI)
     ทั้งนี้ทั้งนั้น กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้มีข้อเสนอในการสร้างเสริมความรู้เท่าทัน AI คือ นอกจากการบูรณาการการรู้เท่าทัน digital and AI literacy เข้าไปในระบบการศึกษาในทุกระดับชั้นแล้ว ยังต้องสร้างเสริมศักยภาพในหน่วยงานที่กำกับดูแลและรับผิดชอบด้านธรรมาภิบาล พร้อมๆ กับการเปิดกว้างให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการฝึกอบรมด้านดิจิทัลและ AI รวมถึงเครื่องมือในแหล่ง open-source ต่างๆ ได้ในภาษาของตัวเอง เช่น ภาษาไทย ตลอดจนส่งเสริมสตาร์ทอัพใหม่ๆ ให้สร้างแอปพลิเคชั่นที่เหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ
     การอภิปรายในหัวข้อ Fostering AI Literacy: Learning from Global Perspectives and Collaborative Strategies มีข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจ เช่น Prof. Yu-li Liu กล่าวว่า ประชาชนจีนใช้งาน AI ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน แต่ยังขาดความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับ AI นอกจากนี้ ยังประเมินระดับความพึงพอใจในการใช้งาน AI ในระดับต่ำเพราะมองว่าเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่แข็งเกินไป อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งาน AI ในจีนคาดหวังว่าจะมีการพัฒนา AI ยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ประเด็นด้านจริยธรรมที่ผู้ใช้ AI ในจีนเป็นกังวลมากที่สุดคือเรื่องความเป็นส่วนตัว จึงตั้งความหวังไว้กับการกำกับดูแล AI อย่างไรก็ตาม การที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับ large language model ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเรียนรู้เกี่ยวกับ AI ของผู้ใช้ในจีน
     ทั้งนี้ Action Plan ล่าสุดของจีนในการส่งเสริม AI Literacy ระบุถึงการส่งเสริมผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล เร่งลดช่องว่าทางดิจิทัล (digital divide) สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างพื้นที่ทางไซเบอร์ที่มีระเบียบและก้าวหน้า นอกจากนี้ยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และเพิ่มทรัพยากรคุณภาพสูงในด้านดิจิทัลให้กับประชาชน
     Prof. Youngsun Kwon กล่าวว่า จากรายงาน The AI Index 2024 Annual Report ของ Stanford University เกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการจดทะเบียน AI patent ต่อประชากรสูงที่สุดในโลก คือ 10.2 รายการต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับ Luxembourg ซึ่งมี 8.73 รายการต่อประชากร 100,000 คน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 4.23 รายการต่อประชากร 100,000 คน
     ทั้งนี้ คอร์สออนไลน์พื้นฐานด้าน AI (Basic AI Massive Open Online Courses: Basic AI MOOCs) ของเกาหลีได้รับความสนใจมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน (employed) รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40-50 ปี แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงานก็มีความต้องการที่จะเรียนรู้และเพิ่มทักษะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ด้วย ดังนั้นจึงควรมีความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจากหลายประเทศในการจัดคอร์สออนไลน์ (MOOCs) เกี่ยวกับ AI และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
     ส่วน Prof. Shuya Hayashi ได้ยกตัวอย่างถึงการที่ AI จะเข้ามามีบทบาทต่อการประเมินและตัดสินผู้คน และการใช้งานระบบ algorithm ที่ไม่เปิดเผยหลักเกณฑ์อาจนำไปสู่การตัดสินอย่างมีอคติและสร้างความเสียหายให้กับสังคมได้ อีกทั้งในบางครั้ง ระบบอาจต้องการเพียงกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีความสนใจ (attention) และเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบที่มีความโปร่งใส และสนับสนุนให้ผู้ใช้งานมีความตระหนักรู้ถึงการรับข้อมูลข่าวสาร เช่นเดียวกับการรับประทานอาหาร ที่จะต้องได้รับข้อมูลว่าอาหารที่วางขายและผู้บริโภคได้บริโภคเข้าไปนั้นประกอบขึ้นจากอะไรและมีสารอาหารอะไรบ้าง นั่นคือ ผู้ใช้งานสื่อมีสิทธิที่จะรับรู้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับนั้นประกอบด้วยอะไรบ้างและผ่านระบบการคัดเลือกมาอย่างไรเพื่อนำเสนอให้กับผู้รับสาร
 

สร้างโดย  -   (23/7/2567 9:48:33)

Download

Page views: 0