การทดลองทดสอบการใช้คลื่นย่าน 6 GHz สำหรับการใช้งานทางการแพทย์

     วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมการทดลองทดสอบการใช้คลื่นย่าน 6 GHz เต็มรูปแบบ (Full band: 5.925-7.125 GHz) ผ่านการใช้งานสำหรับการเรียนการสอนทางการแพทย์โดยการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความเป็นจริง (Augmented Reality: AR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: AR) จัดขึ้นโดยคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่ม Wifi Alliance โดยมีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (United States Trade and Development Agency: USTDA) เป็นผู้ให้การสนับสนุน ณ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
     การทดลองทดสอบครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 GHz อย่างเต็มรูปแบบในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าและความติดขัดของเครือข่ายอันเนื่องมาจากการมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายพร้อมกันเป็นจำนวนมากจนเกิดการติดขัด (Network Traffic Congestion) โดยการทดลองทดสอบชี้ให้เห็นว่าการใช้งาน AR/VR โดยมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากเพื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์ ซึ่งมีการส่งข้อมูล (Data) จำนวนมหาศาลในเวลาเดียวกัน เนื่องจากการจำลองข้อมูลด้านกายวิภาค (autonomy) มีรายละเอียดที่มีความซับซ้อน สามารถทำได้อย่างราบรื่นโดยที่มีปัญหาความติดขัดของเครือข่ายเกิดขึ้นเล็กน้อย
     ปัจจุบัน กสทช. ได้อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 6 GHz บางส่วนในการใช้สำหรับ Wifi แล้วจำนวน 500 MHz โดยมีย่านคลื่นความถี่ระหว่าง 5.925-6.425 GHz ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 6.425-7.125 GHz ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่ง กสทช. ได้อนุญาตให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ Wifi Alliance ทดลองทดสอบการใช้คลื่นความถี่ย่าน 6.425-7.125 GHz ตามประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) ทั้งนี้ กสทช. เปิดกว้างและอนุญาตให้มีการทดลองทดสอบการใช้คลื่นความถี่ในย่านนี้กับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อโครงข่ายหลายรูปแบบอื่นที่อาจเหมาะสมกับพัฒนาการทางด้านโครงข่ายของไทยด้วยเช่นกัน
 

สร้างโดย  -   (31/7/2567 10:29:58)

Download

Page views: 51