การประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร และประธานหน่วยงาน MCMC แห่งประเทศมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

     วันที่ 20 กันยายน 2567 ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือร่วมกับนาย Fahmi Fadzil  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร (Ministry of Communications) นาง Teo Nie Ching รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการสื่อสาร และ Tan Sri Mohamad Salim bin Fateh Din ประธานหน่วยงาน MCMC แห่งประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในระดับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อผลักดันมาตรการจัดการกับปัญหาการหลอกลวง (Scam) หาแนวทางการแก้ปัญหาและกำหนดกฎระเบียบในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาค
     ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้สื่อสังคมออนไลน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะถูกหยิบยกขึ้นในที่ประชุม ASEAN Telecommunications Regulators' Council (ATRC) ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยทางมาเลเซียได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงการส่งข้อมูลออนไลน์ โดยได้บังคับใช้กฎหมายใหม่ กำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 8 ล้านคน เช่น Facebook, TikTok และ X ลงทะเบียนขอใบอนุญาตใหม่กับหน่วยงาน MCMC โดยใบอนุญาตนี้มีอายุ 1 ปี และบริษัทต่างๆ ต้องลงทะเบียนใหม่ในทุกปี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์ให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของประชาชนในมาเลเซียมีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาเลเซียยังตั้งเป้าที่จะผลักดันแนวทางในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงสนับสนุนมาตรการการจัดการปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และสร้างความรับผิดชอบจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในอุตสาหกรรม
     สำหรับประเทศไทย สำนักงาน กสทช. ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา จัดให้มีช่องทางให้ผู้บริโภครายงานปัญหา อีกทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการหลอกลวง (Scam) ในกิจการโทรคมนาคมโดยเฉพาะทางโทรศัพท์และการหลอกลวงผ่านข้อความสั้น (SMS) ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลงทะเบียนและการตรวจสอบซิมการ์ดเพื่อป้องกันอาชญากรรม (SIM Registration) การกำหนด Sender Name สำหรับบริการ SMS การยืนยันตัวตนด้วยระบบ Mobile ID และระบบการแจ้งเตือน Scam Alert การหารือในครั้งนี้ยังเป็น โอกาสอันดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. และ หน่วยงาน MCMC ในการปรับปรุงเนื้อหาในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ให้มีเนื้อหาที่ทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในหลักการที่จะจัดการกับปัญหา Scam โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ในอนาคตต่อไป
 

สร้างโดย  -   (24/9/2567 13:55:34)

Download

Page views: 0