กสทช.-ผู้เชี่ยวชาญ ผุดไอเดียร่วมจัดทำแนวปฏิบัติการนำเสนอดาราสัตว์ในสื่อแบบไม่ละเมิดจริยธรรม ป้องกันเหตุสะเทือนใจซ้ำหลังกรณีแมวถูกวางยาสลบเพื่อถ่ายทำละคร
สำนักงาน กสทช. จัดเวทีสัมมนา เชิญผู้เชี่ยวชาญถกหาแนวทางป้องกันเหตุสะเทือนใจซ้ำหลังกรณีแมวถูกวางยาสลบเพื่อถ่ายทำละคร วิทยากรเห็นพ้องควรจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมบันเทิง ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วม และทุกชีวิตมีความหมาย
(15 พ.ย. 2567) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนา เรื่อง “ดาราสัตว์ในสื่อ นำเสนออย่างไร ไม่ละเมิดจริยธรรม” โดยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นสัตวแพทย์ ผู้แทนสัตวแพทยสภา ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในกองถ่ายที่ผลิตเนื้อหาทั้งของไทยและต่างประเทศ นักมานุษยวิทยา และผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าร่วม
การจัดการสัมมนาดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีมีข้อมูลว่ามีการวางยาสลบแมวเพื่อใช้ในการถ่ายทำละครเรื่องหนึ่ง ปรากฏภาพแมวกระตุกและมีอาการขย้อนจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์มีความสำคัญในสังคมไทย การกระทำที่กระทบสวัสดิภาพสัตว์จึงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง ซึ่งสื่อมวลชนควรจะต้องให้คุณค่ากับเรื่องนี้ในการผลิตและนำเสนอเนื้อหา
"กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลงโทษหรือไปทำอะไรตามแรงกดดันของสังคม แต่เรามองว่าทุกเรื่องเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สื่อและสังคมสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น” ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวและเสริมว่า มีการพูดคุยกับวิทยากรเพื่อมาทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพและกสทช.ในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำดาราสัตว์มาออกสื่อหรือกระบวนการผลิตเนื้อหาต่างๆ ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์
รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้สัตว์ในกองถ่าย ไม่ใช่แค่สุนัขและแมวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทุกชนิด เช่น ช้าง โค กระบือ และงู แม้จะไม่มีการทรมานสัตว์ ก็ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดี เพราะการกระทำทุกอย่างแม้เพียงการออกจากบ้านหรือพื้นที่ที่สัตว์คุ้นเคยก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดและมีผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายสัตว์ได้
"สัตว์ทุกชนิดที่ไปเข้าฉาก ต้องตรวจร่างกายก่อนให้แน่ใจว่ามีสุขภาพแข็งแรง การขนส่งและการเดินทางเหมาะสม เมื่อถึงสถานที่ถ่ายทำ มีที่ให้เขาพักให้เหมาะสมแค่ไหน" รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว
นอกจากนี้ การให้ยาต่างๆ กับสัตว์ที่มีผลต่อสรีรวิทยาของร่างกายถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีกฎหมายควบคุม และต้องทำโดยสัตวแพทย์หรือในการดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น เช่น ก่อนให้ยาสลบแก่สัตว์ ต้องมีการตรวจร่างกายให้แน่ใจว่ามีความพร้อม เพราะเมื่อได้รับยาสลบ หูรูดต่างๆ จะคลาย หูรูดทางเดินอาหารและทางเดินหายใจอยู่ใกล้กัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำรอก สำลักและเกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจของสัตว์ได้ ดังนั้นผู้ผลิตละครจึงควรนึกถึงทางเลือกต่างๆ ที่สร้างสรรค์ในการถ่ายทำ เช่น ใช้การตัดต่อที่ไม่ต้องกระทบกระเทือนต่อสัตว์โดยไม่จำเป็น รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว
นางสาวษมาวีร์ พุ่มม่วง ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ เจ้าของเพจ ‘วันละภาพ’ กล่าวว่า การทำงานกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างประเทศและของไทยมีบริบทที่ยังค่อนข้างแตกต่างกันในหลายด้านด้วยกัน รวมถึงกฎระเบียบวิธีปฏิบัติและงบประมาณ
ในกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศหากต้องมีสัตว์มาเข้าฉากจะมีผู้ทำงานในตำแหน่ง animal wrangler ซึ่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยจะได้รับการอบรมให้เชี่ยวชาญในการดูแลและฝึกสอนสัตว์ที่ต้องทำการแสดงอย่างใกล้ชิด และมีความละเอียดอ่อนมาก
สำหรับภาพยนตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) เช่น American Humane Association เข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ประเมินความเสี่ยง ดูแลและตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์นั้นๆ
"ในกองถ่าย[ของไทย] ก็เคยมีการพูดคุยกันมานานว่าทุกสิ่งมีชีวิต แรงงานผู้ใหญ่ แรงงานเด็ก แรงงานสัตว์ ควรถูกยกระดับมาตรฐานชีวิตในการทำงาน อันที่จริงบ้านเราก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วแต่ขาดการตรวจสอบ ดูแล บังคับใช้ จึงเหมือนกับยังลอยๆ อยู่ ขาดหน่วยงานกลางที่จะมากำกับดูแลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์"
ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี โซ่วิจิตร กรรมการสัตวแพทยสภา กล่าวว่า สัตวแพทยสภามีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสัตวแพทย์ ซึ่งในอนาคต สัตวแพทยสภาอาจจัดคอร์สสำหรับสัตวแพทย์ที่จะมาเป็นผู้ดูแลการถ่ายทำในกองถ่าย เพื่อสนับสนุนความเป็นวิชาชีพ อันจะส่งผลให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงพร้อมๆ กับความปลอดภัยของสัตว์ที่ใช้ในการถ่ายทำด้วย
อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมสื่อของไทยที่ยังอาจถูกละเลยอยู่ในหลายส่วน
"สิ่งที่น่ากลัวคือภาพจำที่จำได้ เช่น ภาพที่ปูถูกมัดเชือกอยู่ในตะกร้า [ระหว่างออกรายการโทรทัศน์] จระเข้ถูกมัดเอาขาไขว้หลัง เราเห็นเป็นธรรมดาแต่ไม่ได้นึกว่ามันจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ การปรากฏภาพซ้ำๆ ประชาชนจะรู้สึกเคยชินโดยไม่เอะใจใดๆ เช่น การเอาสัตว์ exotic มาโยนใส่คนที่กลัวเป็นการแกล้งกันในรายการตลก ในฐานะสัตวแพทย์ เรารู้สึกค่อนข้างทรมานจิตใจมากๆ ที่เห็นแบบนั้น เหมือนโยนเด็กเล็กๆ คนนึงใส่กันแล้ว[เด็ก]ตกลงไปที่พื้น"
ผศ. ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องสัตว์และความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ตั้งคำถามว่า ในการกำกับดูแลจริยธรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการนำสัตว์มาใช้งาน ใครจะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกำกับดูแล เช่น คาเฟ่แมว สัตว์ที่อยู่ในวัดอันเกี่ยวเนื่องกับการทำบุญ หรือสัตว์ในสื่อและวงการบันเทิงเช่นในละครหรือดาราสัตว์อย่างฮิปโปแคระหมูเด้งที่กำลังเป็นที่นิยมในสื่อสังคมออนไลน์
"เกิดเส้นจริยธรรม บางๆ พื้นที่สินค้ากับพื้นที่ความเป็นสัตว์ เขาต้องมีความเป็นส่วนตัวไหม สวัสดิภาพของเขาเป็นอย่างไร เราไปที่พื้นที่ของเขา แต่เราก็เรียกเขาตลอดเวลา กระทบอะไรเขาไหม"
ผศ. ดร.จิราพร กล่าวว่าอยากฝากประเด็นเหล่านี้ไว้กับประชาชนเพราะเป็นผู้มีอำนาจดูแลตัดสินและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่แท้จริง ทุกคนสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ได้ นอกจากนี้ ควรถามด้วยว่าเราอยากเห็นอะไรในความตายหรือความมีชีวิตของสัตว์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องจริยธรรมเป็นประเด็นที่ทุกๆ คนเข้าถึงได้ และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคสมัย ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนบอกเท่านั้น ภาพของสัตว์ที่เราเห็นในสื่อและออกมาถกเถียงกันก็เป็นประเด็นทางจริยธรรมอย่างหนึ่ง
"เวลามีเรื่องอะไรที ประเด็นก็อาจจะกระพือขึ้นมา เคสใหม่อาจมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างกัน…สัตว์ที่ไม่น่ารัก หรือเราไม่ค่อยได้เจอ เราจะยังคำนึงถึงสวัสดิภาพของมันไหม" ผศ. ดร.จิราพร กล่าว
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในข้อบังคับของสมาคมสภาวิชาชีพฯ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ไม่ได้กำหนดเรื่องการใช้สัตว์ในการถ่ายรายการโดยตรง มีเพียงระบุว่าไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือมีการทรมาน ซึ่งในการตีความก็ย่อมหมายรวมถึงสัตว์ด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการร่างแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาและนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสมาชิกองค์กรวิชาชีพ รวมถึงผู้ให้บริการช่องรายการและผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อ ตลอดจนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
"แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สัตว์ในรายการ ในละคร ยังไม่เคยมีขึ้น ดังนั้นถือเป็นสิ่งที่เราต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะในตอนนี้มีเคสเกิดขึ้นแล้วและไม่อยากให้เกิดซ้ำ" นายชวรงค์ กล่าว
"การกำกับดูแลกันเองในทางจริยธรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าประชาชนและภาคประชาสังคมไม่ตื่นตัว เพราะไม่ใช่เรื่องที่ใช้กฎหมายในการบังคับ ก็ขอบคุณความตื่นตัวในสังคมที่ทำให้เราได้มาคุยกันในวันนี้" นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าว.
สร้างโดย - (15/11/2567 15:45:45)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 32