สำนักงาน กสทช. ดีอี และ ปภ. ร่วมกับค่ายมือถือ ร่วมกันทดลองทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast จ.ภูเก็ต คาดไตรมาส 2 ปีหน้าพร้อมใช้งานในบางพื้นที่

     สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด  หรือ AWN บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อทดลองทดสอบความเป็นไปได้ (Proof Of Concept : POC) ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ซึ่งเป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเจาะจงเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุด่วน เหตุร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ พร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว
     นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย เกี่ยวกับการดำเนินการในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการแบ่งหน้าที่การจัดการเพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานจริงได้ในบางพื้นที่ของประเทศทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยงานหลักกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการส่งข้อความ การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร เรียกว่า ส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในส่วนของระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง CBE และ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่าย ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความแจ้งเตือนเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณพื้นที่ที่เกิดภัยพิภัย หรือเหตุด่วนเหตุร้าย
     สำหรับในส่วนของ สำนักงาน กสทช. นั้น เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ทั้ง AWN TUC และ NT โดยใช้งบประมาณจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast ซึ่งการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการทดลองทดสอบความเป็นไปได้ของระบบแจ้งเตือนภัย ถือเป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริง
     “สำนักงาน กสทช. มีความตั้งใจกับการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเหตุด่วนเหตุร้าย หรือเหตุภัยพิบัติ เป็นความสูญเสียที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตเป็นเรื่องพื้นฐานของเราทุกคน และก็ไม่รู้ว่าเหตุเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ประกอบการโทรคมนาคม เราพร้อมให้การสนับสนุน และอยากเห็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นการพัฒนาระบบพื้นฐานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเกิดขึ้นกับประเทศของเรา” นายไตรรัตน์ กล่าว
 

สร้างโดย  -   (20/11/2567 11:28:41)

Download

Page views: 41