กทค.เคลียร์ทุกข้อสงสัยกรณีเพิ่มบริการใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รอง ประธาน กสทช. และในฐานะประธานกทค. เปิดเผยว่า ตามที่สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งได้เสนอข่าวในหัวข้อ "กมธ.ธรรมาภิบาล วุฒิสภาเร่งสอบ กทค. เหตุส่อเอื้อประโยชน์ ‘ไทยคม’ กรณีให้ใบอนุญาตเพิ่มบริการ "ไทยคม 8" หลังพบรัฐเสียผลประโยชน์” โดยในเนื้อข่าวได้นำเสนอข่าวที่คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่าเดิมภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานสร้างรายได้ให้รัฐนับพันล้านบาทต่อปี แต่หลังให้ใบอนุญาตระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพียง 2% ต่อปีนั้น สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวพบว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง และทำให้ กสทช. โดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงาน กสทช. เกิดความเสียหาย จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังนี้
สืบเนื่องจาก ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบ เรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา (พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์) ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2557 ถึงประธาน กทค. (พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ) และกรรมการ กทค. ทุกท่าน เพื่อขอเชิญร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2557 เวลา 10.00 น. แต่เนื่องจากประธาน กทค. ติดภารกิจการประชุมในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วจึงได้มีหนังสือขอเลื่อนการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ออกไปก่อน พร้อมทั้งกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยระบุว่าการชี้แจงครั้งนี้มีรายละเอียดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้เวลาในการจัดเตรียม รวบรวม และเรียบเรียงข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอคณะกรรมาธิการฯ
- ชี้ บอร์ดกทค.ทั้งสี่ยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่าในการประชุมของคณะกรรมาธิการฯนัดดังกล่าว มี กทค. เพียงท่านเดียวเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ โดยไปชี้แจงในนามส่วนตัว พร้อมทั้งเตรียมเอกสารที่เตรียมไว้ส่วนตัวชี้แจง โดยที่กทค. ท่านอื่นไม่ได้เข้าร่วมชี้แจงด้วย และมิได้มอบหมายให้ผู้ใดไปชี้แจงแทนแต่อย่างใด ทั้งนี้ กทค.ท่านนั้นเป็น กทค. เสียงข้างน้อยคนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม กทค.ในเรื่องการเพิ่มบริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม กรณีบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) จึงชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯ เฉพาะในส่วนความเห็นของ กทค.เสียงข้างน้อยคนเดียวเท่านั้น โดยที่ กทค. อีกสี่ท่าน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของ มติ กทค. ไม่ได้มีโอกาสชี้แจงเหตุผลและนำเสนอเอกสารประกอบการชี้แจงในการประชุมนัดดังกล่าว แม้กรรมาธิการฯ บางท่านจะมีข้อสังเกตในบางประเด็น แต่ก็เป็นการให้ข้อสังเกตจากการรับฟังข้อมูลจาก กทค.เสียงข้างน้อยเพียงฝ่ายเดียว ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จึงได้มีมติเพียงรับทราบข้อมูลที่ กทค.เสียงข้างน้อย ชี้แจงเท่านั้น และคณะกรรมาธิการฯจึงมีมติ ให้เชิญ กทค. อีกสี่ท่านมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและให้ครบถ้วนในการประชุมครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตามข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า มติ กทค.ที่ให้ใบอนุญาตส่อให้เห็นว่า บริษัท ไทยคมฯ เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ขณะที่ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อสังเกตดังกล่าวเป็นข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ เพียงบางท่านเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อสังเกตหรือมติของคณะกรรมาธิการฯทั้งคณะแต่อย่างใด
นอกจากนี้ข่าวดังกล่าวยังมุ่งเสนอเฉพาะความเห็นของ กทค.เสียงข้างน้อย ที่ให้ข้อมูลเฉพาะส่วนตน ที่ไม่เห็นด้วยกับมติ กทค. ดังกล่าว ดังนั้นคำชี้แจงในนามส่วนตัวของ กทค.เสียงข้างน้อย จึงย่อมแสดงข้อมูลที่ยืนยันตามความเห็นของตนเพื่อโต้แย้ง มติ กทค. ที่เป็นเสียงข้างมาก
- ขอความเป็นธรรมชี้แจงรายละเอียดเหตุผลของ“มติกทค.” โดยยึดกฎหมาย-ประโยชน์ชาติ-ประชาชน เป็นที่ตั้ง
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน จึงขอชี้แจง ดังนี้ ในการประชุม กทค. วาระที่พิจารณากรณีบริษัท ไทยคมฯนั้น มิได้เป็นการขออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการดาวเทียมสื่อสาร แต่เป็นกรณีที่บริษัทไทยคมฯขอเพิ่มบริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ภายใต้ขอบเขตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเดิม ซึ่ง กสทช. โดย กทค.ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและไตร่ตรองเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบกว่า 6 เดือน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากชั้นคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร และคณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงาน กสทช. รวมทั้งพิจารณาวิเคราะห์เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน กสทช. มาชี้แจงและตอบข้อซักถามจนสิ้นสงสัยแล้ว โดยไม่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และมิได้มีการกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หากมีบริษัทอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ถ้ามายื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร หรือเมื่อได้ใบอนุญาตไปแล้ว ขอปรับปรุงเงื่อนไขซึ่งอยู่ในขอบเขตของใบอนุญาตที่สามารถทำได้ กสทช. ก็จะต้องอนุญาตโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีในการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย
- ประเด็นอนุญาตเพิ่มบริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมอยู่นอกขอบเขตสัญญาสัมปทานจึงต้องนำเข้าสู่ระบบใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ทำให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้น
กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “กทค. อนุมัติให้บริษัท ไทยคมฯ เพิ่มบริการไทยคม 8 ภายใต้ใบอนุญาตเดิม ทำให้รัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ซึ่งแต่เดิมภายใต้ระบบสัมปทานสร้างรายได้ให้รัฐนับพันล้านบาทต่อปี แต่เมื่อเป็นการให้ใบอนุญาตพบว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพียง 2% ต่อปีเท่านั้น รวมถึงการไม่ได้ตรวจสอบว่าบริษัทไทยคมฯ จงใจหลีกเลี่ยงสัญญาสัมปทานหรือไม่” มีความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง
กทค.ขอชี้แจงว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว “ไม่เป็นความจริง” เนื่องจากประเด็นการตรวจสอบขอบเขตของสัญญาสัมปทานนั้น ได้รับการชี้แจงและยืนยันจากทางบริษัท ไทยคมฯ และประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ กิจการบริการดาวเทียมสื่อสารว่าอยู่นอกขอบเขตของสัญญาสัมปทานและมีขอบเขตพื้นที่ให้บริการที่ต่างกัน จึงไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่จะขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดาวเทียมเพิ่มเติมนอกเหนือการอนุญาตภายใต้สัญญาสัมปทาน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวง ICT แต่จะต้องได้รับอนุญาตและให้บริการภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. เท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ที่บริษัท ไทยคมฯ ได้รับสำหรับการให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออกแล้ว พบว่ามีข้อกำหนดให้บริษัท ไทยคมฯ สามารถแก้ไขขยายหรือเพิ่มเติมเงื่อนไข การให้บริการได้ อีกทั้ง สัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาสัมปทาน) ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงคมนาคมเดิม) กับ บริษัท ไทยคมฯได้กำหนดสิทธิการส่งดาวเทียมสื่อสารเพื่อให้บริการได้จนถึงดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดวงสุดท้าย ซึ่งต่อไปไม่ว่าดาวเทียมไทยคม 7 หรือดาวเทียมไทยคม 8 ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิได้อีก เนื่องจากสัมปทานหมดไป และการดำเนินโครงการดาวเทียมเพิ่มเติม นอกเหนือจากการอนุญาตภายใต้สัญญาสัมปทานนั้น “จะต้องได้รับอนุญาตและให้บริการภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ตามกฎหมาย เท่านั้น” ฉะนั้น เมื่อไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาสัมปทานและไม่อาจอนุญาตในรูปแบบของสัญญาสัมปทานได้อีกต่อไป การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวแก่บริษัท ไทยคมฯ จึงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตของสัญญาสัมปทาน จึงย่อมไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เพราะเงื่อนไขตามสัญญาสัมปทานเดิมยังคงมีอยู่ต่อไปทุกประการ
ส่วนในประเด็นที่ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพียง 2% ต่อปีนั้น ก็เป็นการจัดเก็บตามอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้รับใบอนุญาตไม่ว่ารายใดก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้โดยสรุปรายได้แผ่นดินอันเกิดจากการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารจากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสามารถแยกได้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ
1) รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือสัญญาสัมปทาน (เอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 6) ซึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของดาวเทียมไทยคม 4 ดาวเทียมไทยคม 5 และดาวเทียมไทยคม 6
2) รายได้ที่เรียกเก็บตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 (มาตรา 45 วรรค
3) ซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากการให้บริการภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (License fee based on) ของดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8
ดังนั้น ในกรณีที่กล่าวว่าทำให้รัฐเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์นั้น จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากข้อเท็จจริง แต่ในทางตรงกันข้ามการออกใบอนุญาตหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ออกไปแล้วดังกล่าว กลับจะยิ่งทำให้รัฐได้ประโยชน์จากรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากการออกใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่นอกเหนือจากรายได้ตามขอบเขตของสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เดิมด้วย
- โต้ประเด็นเก่าที่กล่าวหาว่าเร่งรัดออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคมนั้น ไม่เป็นความจริง
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ (กสทช. ด้านกฎหมาย) กล่าวว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บอร์ด กทค.เร่งรัดออกใบอนุญาตดาวเทียมแก่บริษัทไทยคมฯมาแล้ว 2 ครั้ง คือดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ การพิจารณาออกใบอนุญาตการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารนั้น ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการให้ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตไว้แล้วตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้กิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นกิจการโทรคมนาคมที่จะต้องขอรับใบอนุญาต ในการพิจารณาอนุญาตในกรณีนี้จึงย่อมสามารถนำหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการพิจารณาอนุญาตในกิจการดาวเทียมสื่อสารได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสภาพของการประกอบธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร กสทช. จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบในร่างประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสารได้ดำเนินการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตและเงื่อนไขดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอ กทค. ทุกท่านแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองและรอการสั่งบรรจุเป็นวาระการประชุม กทค. ทั้งนี้ กระบวนการจะต้องผ่านขั้นตอนกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของ กสทช. โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ให้เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนการออกใบอนุญาตแก่บริษัท ไทยคมฯ ที่ผ่านมานั้น ได้ออกตามหลักเกณฑ์ของการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้บริษัท ไทยคมฯ ทำหน้าที่รักษาวงโคจร ณ ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากล่าช้าอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติได้
ดังนั้น การที่มีข่าวพาดพิงว่ามีการเร่งรัดออกใบอนุญาตโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์ การพิจารณาจึงเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง ส่งผลเสียหายต่อ กทค. และสำนักงาน กสทช. เป็นอย่างยิ่ง
- แจง..! มติให้เพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาต พิจารณาจากขอบเขตของหลักเกณฑ์ที่ กสทช.ประกาศกำหนดเป็นหลัก มิใช่กระทำเพื่อเปิดโอกาสให้ขยายระยะเวลายิงดาวเทียมดวงใหม่
กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “การอนุญาตให้เพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาตเป็นการขยายระยะเวลา โดยสามารถยิงดาวเทียมดวงใหม่ก่อนหมดระยะเวลา แล้วอ้างเหตุยิงดาวเทียมดวงใหม่เพื่อขยายระยะเวลาออกไป ทำให้บริษัทเอกชนที่ทำกิจการดาวเทียมจะไม่สูญเสียสิทธิในการให้บริการ” นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ซึ่งปรากฏอยู่ในประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และใช้กับกรณีบริษัท ไทยคมฯ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตด้วย ในข้อ 5 เรื่อง การเพิ่มการขยายขอบเขตการอนุญาต การพักหรือหยุด การเลิกประกอบกิจการและเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจ และข้อ 6 การขยาย ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมขอบเขตพื้นที่ให้บริการ บริษัท ไทยคมฯ สามารถยื่นคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผล และความจำเป็นดังกล่าวว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนดแล้วก็สามารถให้แก้ไขเพิ่มเติมภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นใบอนุญาตใหม่ เพียงแต่เงื่อนไขที่ผู้ขอใบอนุญาตเพิ่มเติมจะต้องอยู่ภายใต้อายุของใบอนุญาตเดิมที่มีอยู่
“ในการชี้แจงต่อที่ประชุม กทค. ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ บริการดาวเทียมสื่อสารได้ยืนยันว่าการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 1 ใบ ต่อดาวเทียมหลายดวง สอดคล้องกับร่างประกาศฯ ที่คณะอนุกรรมการฯ นำเสนอโดยเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตสามารถดำเนินการขอส่งดาวเทียมสื่อสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมตามที่ระบุไว้เดิมได้ และเมื่อผมตรวจสอบกับร่างประกาศฯ แล้ว พบว่าตรงกับหลักการตามที่ประธานอนุกรรมการฯ ให้ความเห็น”
“ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการยิงดาวเทียมดวงใหม่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาตทำให้มีผลเป็นการขยายระยะเวลาใบอนุญาตไปเรื่อยๆ และจะทำให้เอกชนไม่สูญเสียสิทธิในการลงทุนแต่อย่างใดนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการยิงดาวเทียมดวงใหม่ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามขอบเขต และระยะเวลาของใบอนุญาตประกอบกิจการใบเดิม ซึ่งหากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาของใบอนุญาตการประกอบกิจการฯแล้ว กสทช. ก็จะต้องพิจารณาว่าสามารถที่จะให้หรือต่อใบอนุญาตดังกล่าวต่อไปได้หรือไม่ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งโดยธรรมชาติของการประกอบธุรกิจดาวเทียมต้องมีการลงทุนและมีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนธุรกิจระยะยาวเพื่อที่จะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ” ดร.สุทธิพล กล่าวยืนยัน
- ย้ำชัดกฎหมายไทยไม่ได้ให้อำนาจกทค.ไปประมูลวงโคจรหรือคลื่นความถี่ในอวกาศ เตือนหากไปดำเนินการ อาจผิดมาตรา 157
สำหรับกรณีมีการให้ข้อมูลว่า เมื่อมีกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐบาลของแต่ละชาติมีเขตอำนาจเหนือดาวเทียมและควบคุมดาวเทียมสัญชาติของประเทศนั้นๆ รัฐบาลจึงได้สิทธิเป็นเจ้าของตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้น เมื่อดาวเทียมบนวงโคจรมีการใช้คลื่นความถี่แม้จะเป็นในอวกาศก็เข้าข่ายกรณีตามมาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ และกสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานอำนวยการของไทยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะรักษาวงโคจรอย่างไร ซึ่งทำให้ไทยเสียประโยชน์
ในประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐในการรักษาวงโคจรที่เป็นสิทธิการใช้งานของประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 (ฉบับเดิม) ในมาตรา 63 (10) กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในฐานะหน่วยงานของรัฐด้านอำนวยการของรัฐบาลในกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานต่างประเทศด้านการบริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่ต่อมาได้มีการยกเลิก พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 และมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แทน ซึ่งไม่มีการระบุอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไว้เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 ตามมาตรา 63 (10) และได้มีการโอนบทบาทหน้าที่ดังกล่าวไปยัง กระทรวง ICT ในฐานะส่วนราชการ ซึ่งบทบาทใหม่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ปรากฏในมาตรา 75 โดยมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลและร่วมดำเนินการตามที่รัฐบาลแจ้งให้ทราบเท่านั้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าบทบาทหน้าที่ในการวางแผนการรักษาวงโคจรดาวเทียมสื่อสาร จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ICT ซึ่งเป็นส่วนราชการและเป็นฝ่ายอำนวยการ (Administration) ของประเทศไทย ในองค์กร ITU ในประเด็นดังกล่าว จึงถือเป็นสาระสำคัญที่ควรมีการเสนอต่อสาธารณะให้เข้าใจอย่างถูกต้อง
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งทุกๆ ประเทศอยู่ในฐานะประเทศสมาชิก (Member State) ขององค์กร ITU ที่ให้การรับรองร่วมกัน ขณะเดียวกัน กสทช. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น Administration ที่มีสิทธิยื่นเอกสารการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมสื่อสาร (Satellite Network Filing) ในนามของประเทศไทย
“ดังนั้น การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมสื่อสารจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันหรือข้อบังคับที่ทุกๆ ประเทศสมาชิกเห็นชอบ ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ประมูลวงโคจรดาวเทียมในอวกาศ รวมทั้งให้มีการประมูลการใช้คลื่นในอวกาศ โดยอ้างว่าบางประเทศได้ทำแล้ว ต้องขอให้ไปอ่านกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องให้ดีๆ ซึ่งจะพบว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ให้อำนาจ กสทช.ในการจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศเท่านั้น โดยในกรณีของกิจการโทรคมนาคม ต้องกระทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ขยายไปถึงการให้อำนาจ กสทช.หรือ กทค.ไปดำเนินการจัดประมูลวงโคจรในอวกาศหรือจัดประมูลการใช้คลื่นความถี่ในอวกาศ ฉะนั้นหาก กทค.ไปหลงตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยไปจัดประมูล ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็จะเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งอาจขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและทำให้ กทค. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย
Download
กทค-เคลียร์ทุกข้อสงสัยกรณีดาวเทียมไทยคม.docx
สร้างโดย - (14/3/2560 17:23:29)