กทค.แจงฟ้อง“เดือนเด่น”เป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมาย
• หวังพึ่งศาลยุติธรรมกู้ศักดิ์ศรีพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชน จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)
ที่ประกอบไปด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ , นายสุทธิพล ทวีชัยการ , พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร , นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมีนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับและต่อมามีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่า การใช้สิทธิในการฟ้องร้องของ กทค. ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช.เป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อนั้น
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องสำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงดังนี้ การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
• กทค. พร้อมถูกวิจารณ์แต่จะต้องไม่เกินเลยจนเป็นการละเมิดสิทธิ
สำนักงาน กสทช. เห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้ และสามารถกระทำได้โดยชอบ แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่เกินเลยจนไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และต้องไม่ใช่เป็นการบิดเบือนข้อมูลเท็จจริงทำให้บุคคลและองค์กรอื่นเสียหาย โดยในการทำหน้าที่ของ กสทช. และ กทค. นั้นยอมรับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งที่ผ่านมา กทค. ได้ชี้แจงในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการแถลงข่าว หรือ เผยแพร่ข้อเท็จจริงในรูปแบบของการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ถูกฟ้อง (จำเลยที่1) ก็ยังคงให้สัมภาษณ์ที่เป็นข้อมูลตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง แม้กระทั้งภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่สวนทางกับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งห้าได้ชี้แจงออกไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงนอกจากพึ่งกระบวนการยุติธรรมของศาล
การที่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนมีการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. และ กทค. ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่พึ่งจะกระทำเป็นอย่างมาก แต่การตรวจสอบจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้ตามหลักวิชาการอย่างครบถ้วน โดยมิใช่กล่าวอ้างหรือการคาดเดา โดยปราศจากเหตุผลทางวิชาการและโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ดังนั้นนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ให้ข้อมูลในเชิงลบจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังด้วยการตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบและถูกต้องแม่นยำก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ เพราะข้อมูลที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนอาจทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ถูกวิจารณ์ นักวิชาการเหล่านั้นก็ควรถูกตรวจสอบและหากมีข้อผิดพลาดก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ
• ชี้การวิจารณ์ครั้งนี้ผิดปกติ- มุ่งใส่ความให้เกิดความเกลียดชัง
คดีนี้เป็นการต่อสู้ในเรื่องของหลักการที่ต้องการให้ผู้ที่นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชนต้องมีความรอบคอบและตรวจข้อมูลให้ดีก่อนนำเสนอ ทั้งนี้ โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ห้ามสื่อวิจารณ์การทำงานของ กสทช. และ กทค. ทั้งไม่ได้กลัวการถูกวิจารณ์รวมทั้งไม่เคยกลัวการถูกตรวจสอบ โดยน้อมรับการตรวจสอบตามกระบวนการโดยชอบของกฎหมายและน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ตลอดมา แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ปกติ แต่เป็นการใส่ความเอาเรื่องไม่จริงและเอาเรื่องเท็จมากล่าวหา กสทช. กทค. ทั้งสี่และสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงถ้าอยู่ๆ มีใครมากล่าวหาใครคนหนึ่งอย่างต่อเนื่องโดยเอาเรื่องไม่จริงมาโจมตีว่าคนๆนั้นทำให้ประเทศชาติเสียหายถึง 1.6 แสนล้านบาท นี่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงในการกล่าวหา กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ และกำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยในการพิสูจน์ต่อศาลโจทก์ทั้งห้าจะแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าจำเลยกล่าวเท็จ ใส่ความ ใช้ข้อมูลมั่ว และไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลมาชี้ขาดในเรื่องนี้เพื่อสร้างความยุติธรรมและให้ความจริงปรากฏต่อสังคม
ตามคำฟ้องได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้สิทธิของจำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการใช้สิทธิเกินเลยและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเนื่องจากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้แตกต่างจากมติและรายงานของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 MHz ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าคณะอนุกรรมการฯได้เสนอให้ กทค. เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนสัมปทานสิ้นสุดแต่ กทค. ไม่ยอมเชื่อทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่เคยมีมติหรือไม่เคยมีรายงานเสนอเช่นนั้น รวมทั้งการนำข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากการเลื่อนประมูล 3 จี โดยไปใช้ตัวเลขมากล่าวหาว่ากทค. เลื่อนประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทำให้ชาติเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท เป็นการเอาข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งข้อเท็จจริง ปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์การใช้งานคลื่นความถี่มาใช้สรุปโดยที่ผู้ใส่ความเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นอนุกรรมการของ กสทช. เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นดังกล่าว รู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี แต่กลับนำข้อมูลไปบิดเบือนทำให้เกิดความเสียหาย กทค. ทั้งสี่และสำนักงาน กสทช. แต่ถ้าจำเลยที่1 มีข้อแก้ตัวใดๆ ก็ควรไปนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นศาลให้ความจริงปรากฏ ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว แต่ในชั้นนี้จากพยานหลักฐานที่กทค. มี มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานครบองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยที่มิอาจอ้างข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิโดยสุจริตได้
• ไทยพีบีเอส“ติดร่างแห” เหตุนำข้อความเท็จไปเผยแพร่ โดยไม่ตรวจสอบให้รอบคอบและเสนอข้อมูลเพียงด้านลบด้านเดียว ทำให้เกิดความเสียหาย
กรณีที่ต้องมีการฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ“ที่นี่ Thai PBS” แม้จะมีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 โดยสื่อต่างๆก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 นำข้อความที่มีการหมิ่นประมาทมาเผยแพร่ ทั้งๆ ที่ กทค. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.แถลงข่าวโต้แย้งกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือ ดร. เดือนเด่น ใส่ความเอาเรื่องไม่จริงมากล่าวหากทค. แล้ว โดยมีสื่อลงเผยแพร่หลายฉบับ แต่หลังจากนั้นสกู๊ปข่าวที่ไทยพีบีเอสนำมาเผยแพร่กลับเสนอข้อมูลในเชิงลบเพียงด้านเดียวในส่วนข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ใส่ร้ายกทค. ทั้งสี่ให้เกิดความเสียหายด้วยการโฆษณา โดยมิได้เป็นการติชมด้วยความสุจริต เพราะหากมีการเสนอข่าวด้วยความเป็นกลางและสุจริตแล้ว ก็ย่อมจะต้องนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน แต่สกู๊ปข่าวดังกล่าวกลับเลือกเสนอข้อมูลในด้านลบที่เป็นการใส่ความกทค. ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
• ย้ำการเสนอความเห็นทางวิชาการต่อสาธารณชน ที่ส่งผลในเชิงลบต่อผู้ใดต้องกระทำด้วยความรอบคอบ
การให้ความเห็นในทางวิชาการในเรื่องใดที่มิได้มีการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อสาธารณะอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมของประเทศที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่การแข่งขันโดยเสรี และอยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประเทศชาติจำนวนมหาศาล และการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของการลงทุน หลักเกณฑ์การกำกับดูแล และความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนั้นๆ ฉะนั้นผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีผลเป็นการทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือในองค์กรกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้หน้าที่ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ หากแต่ยังทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงระบบการกำกับดูแลของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
• พยานหลักฐานปรากฎชัดเข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท
พฤติการณ์การให้สัมภาษณ์ของนางเดือนเด่น ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบความจริง เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังข้อความดังกล่าวย่อมจะทำให้เชื่อได้ว่า กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศชาติดังกล่าวจริง อีกทั้งทำให้เชื่อว่า กสทช. กทค. กรรมการ กทค. สำนักงาน กสทช. ขี้เกียจ ไม่เร่งดำเนินการประมูลคลื่นโดยเร็ว ทั้งยังทุจริตต่อหน้าที่ ไม่โปร่งใส มีการเอื้อให้เอกชนใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอีก 1 ปี โดยที่ข้อมูลที่ใส่ความไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล ทั้งในฐานะที่เป็น กสทช. กทค. และในส่วนตัวที่เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว รวมถึงเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์และความศรัทธาจากประชาชน เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นองค์กรที่ใส่เกียร์ว่าง ไม่เป็นกลาง และทุจริต ซึ่งกรรมการ กทค. ทั้งสี่ เป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติที่ดี ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยในการปฏิบัติหน้าที่มาก่อน และการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดสัมปทาน กรณีการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าว โดย กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ทุ่มเทสติปัญญาความรู้ความสามารถในการใช้และตีความกฎหมายที่มีปัญหาอย่างเต็มที่เพื่อส่งผลให้ผ่าทางตันในการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ดังนั้นการถูกใส่ร้ายในลักษณะนี้ในการทำงานในตำแหน่งที่อยู่ท่ามกลางผลประโยชน์มหาศาลและในช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการเปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ทั้งต้องจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทำให้ผู้ประกอบกิจการที่ กสทช. โดย กทค. ต้องกำกับดูแลเกิดความหวาดระแวง กทค. ว่าจะดำเนินการที่ไม่เป็นกลางเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย การกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจ รวมทั้งสร้างความเสียหายและเสื่อมเสียต่อ กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
กทค. ไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่ฟ้องนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการส่วนตัว ส่วนไทยพีบีเอสก็เป็นการฟ้องผู้ดำเนินรายการเป็นการส่วนตัว ในความผิดฐานหมิ่นประมาท หากผู้ถูกฟ้องเห็นว่าตนไม่ผิดก็มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเอาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในชั้นศาลได้เช่นกัน
• กทค.อดกลั้น..! ถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่การจัดประมูล 3จี
การอาศัยศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเป็นการใช้สิทธิที่พึงมีตามกฎหมายโดยชอบแล้ว เพราะศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน โจทก์ทั้งห้าเห็นว่าในเรื่องนี้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากจำเลยผู้ถูกฟ้อง มีการโจมตีตั้งแต่ครั้งประมูล 3 จี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงต่อโจทก์ทั้งห้าอย่างมาก ในครั้งนั้นก็เคยคิดจะฟ้องร้อง แต่สุดท้ายเมื่อหลายเรื่องคลี่คลายจึงอโหสิกรรมให้ แต่เหมือนคนกลุ่มนี้ไม่เคยหยุด จึงจำเป็นต้องใช้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งในครั้งนี้ โจทก์ทั้งห้า ไม่เคยใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมาย ทั้งนี้ขอให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ศึกษาเหตุและผลในคำฟ้องให้ชัดแจ้งก่อนออกมาวิพากษ์วิจารณ์
• ย้ำทุกคนต้องอยู่ภายใต้บริบทของกฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้น
สำนักงาน กสทช. เห็นว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กสทช. ก็อยู่ภายใต้กฎหมายโดยที่ไม่สามารถละเมิดกฎหมายและไม่สามารถอ้างความเป็นกสทช.หรือกทค. เพื่อไปกระทำความผิดกฎหมายได้ เช่นเดียวกัน นักวิชาการก็ดี สื่อก็ดี ก็ย่อมไม่สามารถอ้างสถานะของตนเพื่อยกเว้นจากการถูกตรวจสอบหรือเพื่อให้ไปสามารถกระทำการที่ผิดกฎหมายโดยที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย ฉะนั้นใครก็ตามที่กระทำความผิดก็ย่อมต้องรับโทษ การที่กทค.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนักวิชาการหรือสื่อไปใช้สิทธิฟ้องร้องตามกติกาที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และ มิได้เป็นการข่มขู่หรือลิดรอนสิทธิของนักวิชาการหรือสื่อแต่อย่างใด
แต่การห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิของเขาในการฟ้องร้องตามกฎหมายหรือกดดันให้มีการถอนฟ้องเพื่อมิให้มีการใช้สิทธิในการฟ้องร้องตามกฎหมายต่างหากคือการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น
Download
กทค-แจงฟ้องเดือนเด่น-(Final).docx
สร้างโดย - (21/3/2560 15:45:22)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 52