กสทช. ประวิทย์ ร่วมกับนิติฯ ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง “ข้อพิจารณาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2557 เวลา 13.30 – 17.00 น. ที่ห้อง 201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักงาน กสทช. (ส่วนงานเลขานุการ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) ร่วมกับโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาทางวิชาการเฉพาะประเด็นเรื่อง “ข้อพิจารณาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย” โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวเปิดงาน และมีวิทยากรร่วมเสวนาหลายท่าน คือ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา หัวหน้าโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร รองอธิการบดี และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอาจารย์ประเสริฐ ป้อมป้องศึก อาจารย์พิเศษวิชากฎหมายอวกาศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ทั้งนี้ นพ.ประวิทย์กล่าวว่า กิจการดาวเทียมของไทยเป็นกิจการที่คาบเกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแลมากกว่า 1 หน่วยงาน ขณะเดียวกันกิจการดาวเทียมกำลังจะเปลี่ยนจากระบบผูกขาดโดยรัฐที่ให้สัมปทานผ่านใบอนุญาตมาเป็นกิจการที่จะเปิดเสรี อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของกิจการดาวเทียมก็มีลักษณะกึ่งผูกขาดอยู่ในตัวเอง คือช่องรายการดาวเทียมมีจำนวนมากได้ แต่การส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นไปมีไม่ได้มาก อีกทั้งผู้ประกอบการรายเดิมก็มีแต้มต่อมากกว่า เนื่องจากมีวงโคจรเดิมที่ขออนุญาตใช้มาก่อนแล้ว ในขณะที่อีกด้านกฎหมายก็ระบุไว้ว่า กิจการที่ใช้คลื่นความถี่ต้องจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการจัดงานในวันนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของสาธารณะและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“สิ่งที่อยากเห็นในวันนี้คือการมองกรอบการกำกับดูแลกิจการร่วมกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้” นพ.ประวิทย์กล่าวทิ้งท้ายในช่วงเปิดงาน
ส่วนวงเสวนาได้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งในที่สุดมีประเด็นสำคัญๆ ที่สามารถสรุปร่วมได้แก่
- การให้บริการของดาวเทียมสื่อสารมีการใช้คลื่นความถี่ และเรื่องคลื่นความถี่กับตำแหน่งวงโคจรนั้นเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน โดยในมุมมองทางกฎหมายของ ITU นั้นให้น้ำหนักกับคลื่นความถี่ และเป็นผู้ให้การรับรองสิทธิในการตกลงแบ่งสรรการใช้คลื่นความถี่ของประเทศต่างๆ
- ผู้ให้บริการที่สถานีภาคพื้นดินไม่ควรเป็นผู้มีหน้าที่ประมูลคลื่นความถี่ที่กำหนดในมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
- การออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมควรออกเป็นรายฉบับสำหรับดาวเทียมแต่ละตำแหน่ง
สร้างโดย - (15/3/2560 13:48:10)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 29