กสทช. รุกค่ายมือถือนำกลไกระงับข้อพิพาททางเลือกโดยการไกล่เกลี่ยมาใช้เต็มรูปแบบ
- สัมมนาเชิงปฏิบัติการติวเข้ม พร้อมแชร์ประสบการณ์กับผู้ประกอบการ หวังเป็นต้นแบบระบบไกล่เกลี่ยโทรคมนาคมเพื่อรองรับตลาดโทรคมนาคมเดี่ยวใน AEC
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.ด้านกฎหมาย) เปิดเผย หลังจากเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ประกอบการค่ายมือถือที่เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ว่า “ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการต่อยอดในทางปฏิบัติภายหลังจากที่ กสทช.ได้เปิดบริการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน และจากการดำเนินการที่ผ่านมามีข้อพิพาทที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ โดยคู่กรณีสามารถตกลงระงับข้อพิพาทจนนำไปสู่การจัดทำสัญญาประนีประนอมได้กว่า 95% โดยมีเรื่องที่รอเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยอีกกว่าร้อยเรื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ และระบบไกล่เกลี่ยของ กสทช. เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการระงับข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มผู้ไกล่เกลี่ยของ กสทช. เพื่อถอดบทเรียนการปฏิบัติงานและระดมความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระดับหนึ่งไปแล้ว แต่การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในเชิงรุกมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าหลังจากมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในปีนี้จะทำให้มีการเปิดใช้บริการ 4 จีตามมา ซึ่งจะมีการเติบโตของบริการโทรคมนาคมอย่างมาก อันจะส่งผลให้เกิดปริมาณข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น”
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆโดยในครั้งนี้เป็นการเริ่มจากกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการ และขั้นตอนการไกล่เกลี่ยตามระเบียบ กสทช. ว่า ด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ตลอดจนการดำเนินงานและบริการของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการสัมมนาครั้งนี้นอกจากจะได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรจากภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระบบไกล่เกลี่ยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็นกลุ่มๆในช่วงการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. ยังมีโครงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในลักษณะนี้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ คือ กลุ่มของผู้บริโภคและผู้ด้อยโอกาส โดยกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 รวมทั้งจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ โดยจะเชิญทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคมาร่วมกันระดมความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยในกิจการโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับการจัดงานดังกล่าวนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ กสทช. เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการระงับข้อพิพาททางเลือกในกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการในกิจการโทรคมนาคม โดยเพิ่มช่องทางในการระงับข้อพิพาท และเปิดโอกาสให้สามารถตกลงยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ข้อพิพาทระงับลงด้วยความพอใจของคู่กรณี ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเป็นการสร้างความสมดุลต่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการไกล่เกลี่ยที่ กสทช. นำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ในการระงับข้อพิพาท
“จากการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าระบบไกล่เกลี่ยมีประโยชน์ในการเป็นช่องทางระงับข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถสร้างความยุติธรรมร่วมกันเพื่อยุติข้อพิพาทเป็นกรณีๆไป โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าสมควรที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยฯให้เป็นที่รู้จัก และขยายขอบเขตการดำเนินงานโดยการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในส่วนภูมิภาคด้วย อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระบบไกล่เกลี่ย กล่าวคือ ไปเข้าใจว่าระบบไกล่เกลี่ยกับกลไกรับเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องเดียวกัน และเข้าใจว่า การที่ กสทช.จัดให้มีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมทำให้กระทบต่อการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาสู่บริษัท รวมทั้งบางรายยังเข้าใจว่าในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท ฯลฯ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเท่าที่ทราบ ในกลุ่มผู้บริโภคหลายกลุ่มก็ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไกล่เกลี่ยคลาดเคลื่อนเช่นกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ในเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบไกล่เกลี่ยและบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ย ตลอดจนภารกิจของศูนย์ไกล่เกลี่ยในกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ใช้บริการ รวมทั้งผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.สุทธิพล กล่าวยืนยัน
สร้างโดย - (14/3/2560 14:26:23)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 64