กสทช. อิตาลี (AGCOM) เสนอผลึกกำลัง กสทช. ไทย ร่วมมือยกเครื่องระบบคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
สืบเนื่องจากการที่นาย Antonio Martusciello กรรมการ กสทช. ของอิตาลี (AGCOM Commissioner) ได้เดินทางมาแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคและแนวทาง การกำกับดูแลในสหภาพยุโรป พร้อมเข้าร่วมประชุม ASEAN Workshop on Telecom Consumer Protection ซึ่งสำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพจัดระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2556 และได้มีโอกาสหารือกับ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย เกี่ยวกับความร่วมมือกับ กสทช. ไทย โดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ต่อมา ในวันที่ 27 มีนาคม 2557 กสทช. ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ ได้เดินทางไปยังสำนักงาน AGCOM หรือคณะกรรมการ กสทช. ของ อิตาลี ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี
ในการนี้ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานของ AGCOM รวมทั้งได้ประชุมหารือกับนาย Antonello De Tommaso ผู้อำนวยการกิจการ EU และระหว่างประเทศ โดยมีนาย Giuliano De Vita ที่ปรึกษาของกรรมการ AGCOM ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของAGCOM ร่วมหารือในประเด็นการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแข่งขัน ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมทั้งประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ AGCOM เป็นองค์กรกำกับดูแลแบบหลอมรวมที่เป็นอิสระจากรัฐบาลเช่นเดียวกับ กสทช. ไทย แต่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างกว่า กสทช. ไทย โดยความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งกิจการโทรคมนาคม กิจการสื่อสาร เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต การไปรษณีย์ สิทธิทางกีฬา และการคุ้มครองลิขสิทธิ์เฉพาะในประเด็นเครือข่ายทางการสื่อสาร ซึ่งเดิม AGCOM ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 9 คน แต่ต่อมา ได้มีการปรับลดจำนวนกรรมการเป็น 5 คน ทำให้การดำเนินงานและกระบวนการตัดสินใจมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
นาย Mauro Martino ผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสรรคลื่นความถี่ กล่าวว่า กฎหมายโทรคมนาคมของอิตาลีไม่ได้บังคับให้การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น เนื่องจากการจัดสรรคลื่นความถี่มีหลายวิธี จึงควรจะให้ regulator ผู้รับผิดชอบเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะใช้วิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งในประเทศอิตาลีในบางครั้งก็ใช้วิธีคัดเลือกเปรียบเทียบ (beauty contest) หรือในกรณีที่คลื่นความถี่หายาก และมีผู้ต้องการมากก็จะใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งอาศัยกลไกตลาดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล แต่ในกรณีที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคลื่นความถี่หายาก เช่น กรณีของคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียมสื่อสารซึ่งผู้ประกอบการหลายรายสามารถใช้แถบคลื่นความถี่ในขณะเดียวกัน ได้ AGCOM จะใช้วิธีออกใบอนุญาตแบบมาก่อนได้ก่อน (first come, first serve)โดยในส่วนการประสานงาน ITU เรื่องยื่นเอกสารจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้นกระทรวงเศรษฐกิจฯของอิตาลีเป็นผู้รับผิดชอบในลักษณะคล้ายๆ กับกรณีของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานอำนวยการ
ของรัฐบาลไทยในกิจการสื่อสารระหว่างประเทศ และเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ฉะนั้น ในอิตาลีนั้น ไม่มีการประมูลคลื่นสำหรับใช้ในกิจการดาวเทียมสื่อสาร เนื่องจากการจัดสรรคลื่นโดยวิธีการประมูลคลื่นไม่เหมาะสมในกรณีของดาวเทียมสื่อสาร นอกจากนี้ยังไม่มีการประมูลวงโคจรของดาวเทียม เพราะอยู่นอกอำนาจอธิปไตยของประเทศอิตาลี และเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ITU
นาย Antonio De Tommaso กล่าวว่า AGCOM ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างมาก โดยในเรื่องสัญญาให้บริการนั้น AGCOM ใช้แนวทาง soft regulation คือออกกติกาที่มีความยืดหยุ่นและเท่าที่จำเป็น และสนับสนุนให้ผู้ให้บริการมีการสร้างความโปร่งใสในข้อเสนอการ
ให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจและเปรียบเทียบข้อเสนอจากผู้ให้บริการแต่ละรายได้ นอกจากนี้ AGCOM ได้จัดกลุ่มงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรกดูเรื่องคุณภาพการให้บริการ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และมวลชนสัมพันธ์กับเครือข่ายสมาคมผู้บริโภค ส่วนที่ 2 ติดตาม รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน และส่วนที่3คือการระงับข้อพิพาทและการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่ในแต่ละปี มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าแสนเรื่อง AGCOM จึงจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารจัด
การที่มีประสิทธิภาพ จึงได้ใช้กลไกระงับข้อพิพาททางเลือก โดยการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก โดยใช้ผู้ไกล่เกลี่ยทั้งในส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาคช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีข้อพิพาทถึง 90,000 เรื่อง สามารถยุติลงได้โดยวิธีการไกล่เกลี่ย ทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเกิดความพอใจ
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการกิจการระหว่างประเทศของ AGCOM ได้กล่าวว่าทาง AGCOM มีความสนใจจะทำความร่วมมือกับ กสทช. ของไทย เนื่องจาก มีความคล้ายคลึงกันในลักษณะโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กร การทำบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือกัน จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งสอง โดยจะเป็นการเติมเต็มและสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ ให้ความเห็นว่า AGCOM มีจุดเด่นหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่มีความหลากหลาย แต่ใช้บุคลากรจำนวนไม่มาก ทั้งยังมีความโดดเด่นในเรื่องประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการจัดโครงสร้างสำนักงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแบบครบวงจร และมีกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีประสบการณ์อย่างมากในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลในยุคเทคโนโลยีหลอมรวม
“การทำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ AGCOM จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบงานของ กสทช. โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของ AGCOM ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ไม่ยาก จึงมั่นใจว่าการผนึกกำลังความร่วมมือระหว่าง กสทช. ไทย กับ AGCOM ของอิตาลี จะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวในตอนท้าย
สร้างโดย - (15/3/2560 10:19:15)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 61