การประมูลคลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz เพื่อประเทศชาติและประชาชน
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ณ สำนักงาน กสทช. ในวันนี้ (วันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2555) ถือว่าขั้นตอนในการประมูลสิ้นสุดลงแล้ว โดยทุกขั้นตอนกระทำด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม โดยมีดร. อุน จู คิม ผู้อำนวยการสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค แห่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Dr. Eun-Ju Kim Reginal Director ITU Reginal Office for Asia and Pacific) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน และผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการประมูล
การประมูลในวันนี้สิ้นสุดลงในรอบที่ 7 เมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเสนอราคาอีก และเมื่อไม่มีผู้ใดใช้สิทธิในการไม่เสนอราคา (Waiver) เมื่อการประมูลทุกล็อตสิ้นสุดลง ถือเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการประมูลชุดคลื่นความถี่ เข้าสู่ขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่โดยผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกย่านความถี่ที่ตนเองต้องการก่อน ตามด้วยผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาสูงรองลงมา และย่านความถี่ที่เหลือจะเป็นของผู้เข้าร่วมการประมูลที่เสนอราคาต่ำสุด และหากมีผู้เข้าร่วมการประมูลเสนอราคาเท่ากัน จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อกำหนดลำดับในการเลือกย่านความถี่ที่ตนเองต้องการ
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า การประมูลในวันนี้มีการประมูลทั้งหมด 2 ช่วง 7 รอบ โดยมี ผู้เสนอราคาครบทั้ง 9 สล็อต แบ่งเป็นราคา 4,950 ล้านบาทจำนวน 2 สล็อต ราคา 4,725 ล้านบาท จำนวน 1 สล็อต และราคา 4,500 ล้านบาท อีก 6 สล็อต โดยสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลในครั้งนี้ สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz จำนวน 45 MHz เป็นเงินทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท
ผู้ประมูลที่เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้มีสิทธิเลือกย่านความถี่ก่อน ซึ่งได้เลือกย่านความถี่ 1950 MHz -1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz และมีผู้เสนอราคาเท่ากันเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ทั้งนี้บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เป็นผู้จับสลากได้เลือกย่านความถี่ก่อน ได้เลือกย่านความถี่ 1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด จึงได้ย่านความถี่ 1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz ไป
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การประมูลแต่ละรอบผู้เข้าร่วมการประมูลจะมีเวลา 30 นาทีในการเสนอราคา โดยการเสนอราคาจะต้องเสนอราคาครั้งละ 5% ของราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท (คิดเป็นเงิน 225 ล้านบาท) จากนั้นโปรแกรมในการประมูลจะประมวลผล และจะประกาศผลการประมูลของรอบนั้นๆ เป็นการล่วงหน้า 10 นาทีก่อนการประมูลรอบต่อไปจะเริ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาแต่ละรอบประมาณ 45 นาที
รองประธาน กสทช. กล่าวว่า หลังจากสิ้นสุดการประมูลจะประกาศผลการประมูลอย่างเป็นทางการภายใน 3 วัน และ กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูลภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล
พร้อมย้ำว่า การประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในวันนี้ กสทช. ดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยความตั้งใจที่จะนำเอาคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz มาให้บริการประชาชน โดยคำนึงถึงความสมดุลของประโยชน์สำหรับประชาชนผู้บริโภค เงินรายได้จากการประมูลที่จะนำเข้ารัฐ และการส่งเสริมแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม
สร้างโดย - (30/3/2560 10:55:46)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 548