ถาม- ตอบ ทุกข้อสงสัย ปัญหาสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดกับการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนจากปัญหา“ซิมดับ”

การขับเคลื่อนภารกิจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ในการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากการเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ แต่ กสทช. ก็ไม่ย่อท้อดำเนินการจัดประมูลคลื่น 3จี เป็นผลสำเร็จ จนสามารถออกใบอนุญาต 3จี ได้ในเดือนธันวาคม 2555 ขณะนี้ กสทช. กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการในการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz กลับมาจัดสรรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนกว่าการจัดประมูล 3จี เนื่องจากคลื่น 3จี เป็นคลื่นที่ถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบ แต่คลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่มีการนำไปใช้ให้บริการ 2จี และมีผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคนอยู่ในระบบ รวมทั้งช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต 3จี กำลังเร่งสร้างโครงข่ายและแข่งขันเปิดให้บริการ 3จี ระบบต่างๆจึงยังจะต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและเกิดประสิทธิภาพตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ประกอบกับยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งข้อกฎหมายเองแม้จะวางหลักกว้างๆไว้ แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดของการดำเนินการต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ที่ กสทช. คือผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องนำกฎหมายไปใช้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
     โดยที่ในขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการดำเนินการของ กสทช. การชี้แจงประเด็นข้อสงสัยที่มีความไม่เข้าใจตรงกัน อันเกิดจากการได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนและมีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความกระจ่าง เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการของ กสทช. อันจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตฯ เกิดอุปสรรคและเกิดผลเสียหายต่อประชาชน 
      1.  ถาม : หาก กสทช. ไม่ออกประกาศฯมาตรการคุ้มครองจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ใช้บริการที่อยู่ใต้สัมปทาน คลื่น 1800 MHz ที่อายุสัมปทานสิ้นสุด     
          ตอบ :  เมื่อสิทธิ “ใช้คลื่น”ในระบบสัมปทาน 15 กันยายน 2556 หมดลง ซิมจะดับ 
  ทั้งนี้สิทธิของผู้เกี่ยวข้องตามระบบสัมปทานนั้นดำรงอยู่ได้เท่าที่กฎหมายใหม่ในระบบเสรีได้รับรองไว้เท่านั้น ดังนั้นสิทธิใช้คลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจจึงมีอยู่เท่าที่กฎหมายระบบเสรีอนุญาต และสิ้นสุดไปตามอำนาจเรียกคืนคลื่นของ กสทช. ที่เรียกคืนเมื่อสิ้นอายุสัมปทาน ส่วนสิทธิประกอบการของรัฐวิสาหกิจนั้นยังคงอยู่ตามใบอนุญาตที่ กสทช. มอบให้ แต่ก็ไม่มีคลื่นความถี่มาประกอบการอีกต่อไป ส่วนเอกชนผู้รับสัญญาจากรัฐวิสาหกิจไปประกอบการนั้น บทเฉพาะกาลของกฎหมายในระบบเสรีก็ให้ถือเป็นเสมือนผู้ได้รับอนุญาตและสิ้นสภาพนี้ไปเมื่อสิ้นอายุสัญญาเช่นกัน ในสภาพนิติสัมพันธ์เช่นนี้ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนจึงต้องหยุดการให้บริการในคลื่นความถี่ดังกล่าวอย่างแน่นอน ปัญหาแท้จริงจึงอยู่ที่เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติก่อนหยุดให้บริการเท่านั้นว่ามีหน้าที่จะต้องปฏิบัติเช่นใดบ้างเท่านั้น
     ถ้าไม่ออกประกาศฯจะเกิดสภาวะซิมดับหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบ
       กสทช. ได้เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลคลื่นจากผลการสิ้นสุดสัมปทานควบคู่ไปกับการหามาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการโอนย้ายเลขหมาย ซึ่งดำเนินการคู่ขนานกัน อย่างไรก็ตาม การจัดประมูลครั้งนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการจัดประมูลคลื่น 3G ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมายและมีเรื่องผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบ ฉะนั้นหาก กสทช.ดำเนินการจัดประมูลคลื่นไปอย่างเดียว หรือเร่งการโอนย้ายเลขหมายไปอย่างเดียว หากเกิดมีการฟ้องร้องคดีทำให้ไม่สามารถจัดประมูลได้เสร็จสิ้นก่อนสัมปทานสิ้นสุด หรือไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการได้แล้วเสร็จก่อนสัมปทานสิ้นสุด ก็จะมีผู้ใช้บริการคงค้างอยู่ในระบบ ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงเรื่องซิมดับที่มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ จึงมีความจำเป็นจะต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการเยียวยาไว้ ซึ่งเป็นมาตรการเสริมในกรณีที่เกิดปัญหา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเมื่อออกประกาศนี้แล้ว กระบวนการดำเนินการอื่นๆเกี่ยวกับการจัดประมูลคลื่นจะหยุดชะงักลง เนื่องจากกระบวนการต่างๆยังคงเดินคู่ขนานกับมาตรการในการออกประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ  (ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดาวน์โหลดเอกสาร)

Download

  • ถาม-ตอบ-ทุกข้อสงสัย-คลื่น-1800.doc

สร้างโดย  -   (20/3/2560 15:26:36)

Download

Page views: 403