“ทางที่ต้องเดิน”ของ กสทช.

การจัดสรรคลื่น 2.1 GHz ของ กสทช. ให้แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์ไร้สายรายเดิมทั้ง 3 ราย ในราคา 41,000 ล้านบาท/15 ปี โดยวิธีการที่เรียกว่าเป็นการ “ประมูล” แต่กลับแบ่งสินค้าเป็น 3 กอง ให้บริษัท 3 รายมาเสนอราคาจนไม่เกิดการแข่งขันราคาที่แท้จริง กำลังเป็นปัญหาถูกกล่าวหาและตรวจสอบกันระงมไปหมดในแทบทุกองค์กร ทั้ง ศาล, ปปช.,ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมาธิการสภา ซึ่งดูตามท้องเรื่องแล้วก็ไม่มีทางที่เรื่องจะลงเอย ยุติลงง่ายๆ ตามที่ กทค.ต้องการได้เลย

          หนทางเดียวที่ กทค.จะต้องฝ่าฟันและหลุดรอดมรสุมนี้ไปได้ ก็มีแต่จะต้องเดินหน้านำอำนาจกำหนดเพดานราคาค่าบริการที่กฎหมายมอบให้ไว้ มาใช้สะสางต้นทุนค่าคลื่นและโครงข่ายของบริการใหม่ในระบบ 3 จี เมื่อพบว่ามีต้นทุนลดลงจากเดิมเท่าใด ก็ต้องกำหนดเพดานราคากดค่าบริการให้ต่ำลงให้มาตกแก่ผู้บริโภคให้จงได้

ดังผมจะขอนำเสนอแง่มุมในทำนองปุจฉา – วิสัชนา ไปโดยลำดับ ดังนี้

“อำนาจกำหนดเพดานค่าบริการ”ของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติโทรคมนาคม

มาตรา 55 ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทและอัตราขั้นสูงของค่าธรรมเนียม และค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาต จะเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการตามลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ

มาตรา 56 การกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าธรรมเนียมและค่าบริการตาม มาตรา 55 จะต้อง
(1) มีวิธีการคำนวณที่ชัดเจน
(2) เป็นอัตราที่ยุติธรรมแก่ผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้บริการ
(3) ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้ใช้บริการหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด
 
มาตรา 57 ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะ กรรมการ กำหนดใน มาตรา 55 ไม่ได้ และต้องไม่เป็นการกำหนดอัตราในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน”

ถาม    ในฐานะที่อาจารย์เคยมีส่วนร่างกฎหมายโทรคมนาคมใหม่นี้ ขอคำอธิบายหน่อยครับว่าอำนาจนี้มีที่มาอย่างไร
ตอบ    คือต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า กฎหมายใหม่นี้มุ่งสร้างระบบใบอนุญาตขึ้นมาแทนระบบสัมปทาน เพราะเราเปลี่ยนหลักคิดไปแล้วว่า คลื่นโทรคมนาคมนั้นเป็นของชาติไม่ใช่ของรัฐ ใครอยากจะประกอบการก็มีเสรีภาพที่จะมาขออนุญาตแล้วแข่งขันกัน ส่วนคลื่นนั้นก็ให้เปิดประมูล แม้แต่ รัฐวิสาหกิจของรัฐ เช่น ทศท.หรือ กสท.ถ้าอยากได้คลื่น 2.1 นี้ก็ต้องมาประมูลกับเขาด้วย

ถาม    แล้วถ้าประมูลแข่งกันให้เงินรัฐมากๆ ต้นทุนมันไม่สูงแย่หรือครับ ผู้บริโภคก็ต้องแบกรับจ่ายเงินค่าคลื่นให้รัฐ ไม่ต่างจากระบบสัมปทานอยู่ดี แล้วที่สัญญาว่าระบบนี้ค่าบริการจะถูกลงนั้น มันก็เป็นความจริงไปไม่ได้
ตอบ    ตรงนี้ล่ะครับที่เป็นที่มาของอำนาจกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง ตามมาตรา 55 – 57 ที่ระบุว่า ต้องกำหนดให้ยุติธรรมทั้งต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ถ้าเรามองเห็นกรอบอัตราที่ยุติธรรมนี้ได้ ต้นทุนค่าคลื่นที่ต้องส่งให้แผ่นดินมันก็จะถูกกำหนดเป็นเพดานโดยปริยายไปด้วย

ถาม    ตรงนี้เองใช่ไหมครับ ที่มีผู้ฟ้องต่อศาลปกครองให้สั่งระงับการประมูลไว้ก่อน เหตุเพราะยังไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการไว้ก่อน
ตอบ    ครับ อาจารย์ผู้ร้องท่านก็เห็นตรงนี้เช่นกันว่า ก่อนประมูลมันต้องมีกรอบราคาคุ้มครองผู้บริโภคก่อน ไม่ใช่ให้ประมูลใส่ราคากันตูมๆ จนภาระมาตกแก่ผู้บริโภคโดยไม่สมควรแต่ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะมูลคดียังไม่มีผู้เสียหาย

ถาม    แต่พอล่วงเลยมาประมูลจริงๆ ก็ไม่เห็นเขาใส่กันตูมๆ แข่งราคาอะไรกันเลยนี่ครับ
ตอบ    ก็มีสินค้า 3 ถาด และมีผู้เอาจริงแค่ 3 เจ้าอย่างนี้ มันจะไปแข่งราคากันทำไมล่ะคุณ

ถาม    แล้วราคาประมูลที่รัฐได้ไป มันน้อยกว่าราคาประเมินด้วยนะครับ เพราะราคาตั้งต้นมันเริ่มต่ำกว่าราคาประเมินมากอยู่แล้ว พอไม่มีการแข่งขัน ราคามันก็เลยไม่เด้งขึ้นไปอย่างที่ต้องการ
ตอบ    ถามจริงๆเถอะ....คุณอยากให้กระทรวงคลังได้เงินกินเปล่าเยอะๆ จริงๆหรือ ปีที่แล้วรัฐวิสาหกิจรับค่าสัมปทานมารวม 4 หมื่นล้าน หักค่าโครงข่ายค่าบริหารระบบต่างๆแล้วเหลือส่งให้คลัง 10,000 ล้านบาท พอเปลี่ยนมาเป็น 3 จี โดยระบบเสรีนี่ คุณยังคิดจะให้เขา 10,000 ล้านบาท/ปี อีกหรือ?

ถาม    ทำไมอาจารย์ถามอย่างนี้ล่ะครับ
ตอบ    คือในระบบโทรคมนาคมเสรีนี่ เราไม่ยอมรับอีกต่อไปแล้วนะครับว่า คลื่นเป็นของรัฐ กระทรวงคลังต้องมีค่าต๋งลดลง ลดลงจนอัตราค่าบริการมันถูกลงกว่าเดิม เป้าหมายของระบบใหม่มันอยู่ที่ราคาที่ยุติธรรมต่อผู้บริโภค แล้วคุณยังมามัวเสียดายแทนรัฐอยู่อีกหรือว่า น่าจะได้ค่าต๋งมากกว่านี้

ถาม    ถ้ารัฐได้ค่าต๋งลดลงอย่างอาจารย์ว่า ต้นทุนที่ลดลงนี้ต้องได้กับชาวบ้านนะครับ ไม่ใช่ไปเพิ่มเป็นกำไรให้บริษัท
ตอบ    ถ้ารับกันอย่างที่คุณว่า ก็หมายความว่า กสทช.ต้องมีหน้าที่ 2 ประการดังนี้

            1. ต้องทำให้ต้นทุนค่าคลื่น และค่าโครงข่ายถูกลงกว่าระบบสัมปทาน
            2. ต้องกำหนดราคาค่าบริการให้ถูกลงตามต้นทุนที่ลดลงนั้น

            คุณยอมรับไหมว่าหลักต้องเป็นอย่างนี้

ถาม    โอเคครับ...แล้วระบบอนุญาต 3 จี ในครั้งนี้ต้นทุนมันลดจริงไหม
ตอบ    ค่าคลื่นที่จ่ายให้กระทรวงคลังนี้ กทค.ประมูลได้ 41,000 ล้านบาทต่อ 15 ปี คิดเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี แค่นี้ก็ลดลงจากระบบสัมปทานไปแล้ว 4,000 ล้านบาท/ปี ที่เหลือก็ยังเหลือค่าโครงข่าย,ค่าบริหารระบบโดยรวม และค่าอุดหนุนโทรศัพท์ชนบท รวมสามรายการ ซึ่งสองรายการหลังนั้นตามกฎหมายใหม่แล้วจะต้องถูกลงแน่นอน เหลือแต่ค่าโครงข่ายซึ่งถ้าเอกชนเขาลงทุนสร้างเอง ต้นทุนก็จะต่ำกว่าสัมปทานอีก

ถาม    อาจารย์ยืนยันว่า ต้นทุนคลื่นและโครงข่ายมันจะต้องลดลง
ตอบ    ครับ...จากตารางที่เปรียบเทียบให้ดูข้างต้น มันลดลงแน่ๆ กสทช.มีหน้าที่ต้องนำความจริงนี้ออกมา แล้วใช้อำนาจกดอัตราราคาค่าบริการลง จนประโยชน์นี้ตกแก่ผู้บริโภค นี่คือหน้าที่ตามกฎหมายที่ กสทช.ต้องทำ ประมูลได้เงินเข้าคลังน้อยลงผมไม่ว่า...แต่ประโยชน์ที่ลดลงนี้ต้องตกแก่ชาวบ้านไม่ใช่บริษัท

ถาม    นี่ใช่ไหม...คือวัตถุประสงค์ของระบบโทรคมนาคมเสรี ที่เขียนกฎหมายสร้างมันขึ้นมา
ตอบ    ครับ...ผมเห็นว่าอย่างนั้น ชาวบ้านต้องไม่แบกรับต้นทุนที่ไม่มีเหตุผลอีกต่อไป นี่คือเป้าหมายหลักของระบบใหม่ ถ้า กทค. และ กสทช.ทำได้สำเร็จก็ต้องปรบมือให้
นี่คือ “ ทางที่ต้องเดิน” ต่อไปของ กสทช. คุณต้องลดราคาค่าบริการลงมาให้ได้ ให้สอดคล้องกับต้นทุนคลื่น – โครงข่าย ที่ลดลงในครั้งนี้ จะถึง 20% อย่างที่คุยไว้หรือไม่ไม่เป็นไร ขอให้อธิบายได้ก็พอแล้ว

ถาม    ได้สัก 10% ก็เฮแล้วนะครับ
ตอบ    จะเป็นตัวเลขเท่าใด ก็ให้บ่งบอกมาตามหลักบัญชีก็แล้วกัน ว่าแต่ว่าในอนาคตข้างหน้า ถ้าได้บริการคุณภาพจาก 3 จี แถมค่าบริการยังลดลงอีกต่างหากด้วยอย่างนี้ คุณว่าโทรศัพท์ในระบบสัมปทานมันจะอยู่ได้ไหม ชาวบ้านจะแห่กันเปลี่ยนระบบไปใช้ 3 จี กันหรือเปล่า

ถาม    ถ้าจะเปลี่ยน...ส่วนใหญ่ก็ต้องลงทุนซื้อโทรศัพท์ใหม่ ที่ใช้ 3 จี ได้
ตอบ    ก็โดนเข้าไปอย่างต่ำ เครื่องละ 3,500 บาท ก็คงจะยอมกันกระมัง

ถาม    น่าจะยอมนะครับ ของใหม่ ลูกเล่นใหม่ โปรโมชั่นใหม่ ราคาใหม่ด้วย ผมว่าลูกค้าทั้งประเทศกว่า 100ล้านเบอร์คงย้ายมาใช้ระบบ 3 จีกันเกือบหมดแน่ๆ แล้วอย่างนี้ ทศท.กับ กสทช.จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อลูกค้าในระบบสัมปทานหายไปเกือบหมด
ตอบ    คุณไปถามบอร์ดกับรัฐมนตรีไอซีที ดูก็แล้วกันครับว่าจะเอายังไง...น้ำจะเดือดแล้ว กบยังว่ายเล่นไม่รู้เรื่องเลย...น่าเวทนาจริงๆ

credit : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2555 คอลัมน์:เส้นแบ่งความคิด โดย แก้วสรร อติโพธิ

 

สร้างโดย  -   (29/3/2560 16:20:13)

Download

Page views: 281