ปุจฉา-วิสัชนา...! อย่างตรงไปตรงมา กรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz (ตอน7)

          เมื่อตอนที่แล้ว ( ตอนที่ 6 ) เราได้ “ปุจฉา-วิสัชนา” ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเลื่อนจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัมปทานจะทำให้รัฐเสียหาย 1.6 แสนล้าน ตามที่มีนักวิชาการกล่าวอ้างไว้หรือไม่ สำหรับใน (ตอนที่ 7)นี้ เรามา “ปุจฉา-วิสัชนา”กันเกี่ยวกับประเด็นการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่ให้องค์กรของรัฐต่างๆ ต้องผูกพัน ใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต่อกรณีการออก “ประกาศห้ามซิมดับ” และ “หน้าที่” ดังกล่าวมีอะไรบ้าง..?
            ปุจฉา : ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ นั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่ให้องค์กรของรัฐต่างๆต้องผูกพัน ใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต่อกรณีการออกประกาศห้ามซิมดับและหน้าที่ดังกล่าวมีไว้อย่างไรบ้าง
            วิสัชนา : 1. หน้าที่ขององค์กร กสทช. ที่ต้องผูกพันตามมาตรา 47 โดยตรง อันเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องคลื่นความถี่ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่โดย “คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด” เป็นสำคัญ
            ซึ่ง หมายรวมถึงทุกช่วงเวลา ตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งระบบ ไม่จำกัดเฉพาะ ณ ช่วงเวลาจุดใดจุดหนึ่งที่ กสทช. ประมูลคลื่นและออกใบอนุญาตต่อผู้ประกอบการเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมรวมถึงขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ ก่อนนำไปสู่การจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลด้วย โดยทุกช่วงเวลานี้ กสทช. ผูกพันตามรัฐธรรมนูญให้ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ส่วนสาเหตุที่ต้องย้อนกลับไปดูบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญก็เพราะมาตรา 83 และ 84 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 มีความไม่ชัดเจน เนื่องจากมาตรา 83 และ 84 เป็นบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดเวลาให้คืนคลื่นความถี่ โดยจะคืนคลื่นเมื่อใดให้เป็นไปตามแผนแม่บท อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนคลื่นความถี่มาแล้ว จะดำเนินการอย่างไร ในช่วงก่อนนำมาจัดสรรนั้น แผนแม่บทและมาตรา 83 และ 84 ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าในช่วงรอยต่อหลังสิ้นสุดสัญญา ก่อนนำคลื่นไปจัดสรรใหม่จะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งไม่ได้กำหนดว่าจะคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบเดิมในช่วงรอยต่อนี้อย่างไร ซึ่งแนวทางที่ให้เร่งประมูลที่หลายฝ่ายตั้งคำถามหรือเสนอกันเข้ามาก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะแม้จะเร่งก็มีผู้ใช้บริการคงค้างในระบบอยู่ดี การเร่งประมูลคลื่นโดยด่วนแบบรีบๆอาจจะสามารถทำได้แต่จะเกิดผลกระทบและความเสียหายตามมา เนื่องจากการจัดประมูลที่ถูกต้องต้องสอดคล้องตามหลักกฎหมายและตามหลักวิชาการ อีกทั้งไม่ปรากฏทั้งในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่กำหนดให้เร่งประมูล “ทันที” หลังหมดอายุสัมปทานหรือ “ก่อน” สัญญาสัมปทานสิ้นสุด มีเพียงมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูล ส่วนจะจัดประมูลเมื่อใด อย่างไรนั้น มาตรา 45 กำหนดว่า “ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด” ฉะนั้นการจะจัดประมูลเมื่อใด อย่างไรจึงอยู่ในดุลพินิจของ กสทช. ซึ่ง กสทช. พิจารณาแล้วจนมาสู่คำตอบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติต้องพร้อม จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ
            2. หน้าที่ของ กสทช. แต่ละคนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 74 ของรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนอำนวยความสะดวกและบริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ ผลประโยชน์ของประชาชน และผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ เป็นต้น ต่อกรณีการออกประกาศห้ามซิมดับเพื่อเยียวยาผู้ใช้บริการที่คงค้างในระบบ ข้าราชการ พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ รวมทั้ง กสทช. แต่ละคนก็เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายตามมาตรานี้ รักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดหน้าที่กรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช.ไว้ว่า “ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ดังนั้น การที่หลายฝ่ายตั้งคำถามหรือเสนอแนวทางให้เร่งรัดจัดประมูลในขณะที่อุตสาหกรรมยังไม่พร้อม และมีผู้ใช้บริการคงค้างในระบบที่ให้ต้องเยียวยา หากจัดประมูลไปตอนนี้ก็จะเกิดผลกระทบและความเสียหายตามมา ทำให้การให้บริการสาธารณะที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องต้องสะดุดหยุดลง กระทบต่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐตามมาตรา 47 ที่ กสทช. มีหน้าที่ปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
            3. หน้าที่โดยตรงของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ในการตรา การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ
            โดยเมื่อพิจารณาในส่วนของ “เสรีภาพ” ของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้ 1. เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันของบุคคลตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2. เสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากรัฐธรรมนูญได้วางหลักทั่วไปในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ตามมาตรา 4 แล้ว รัฐธรรมนูญยังให้ความสำคัญเพิ่มน้ำหนักไว้อีกชั้นหนึ่งโดยการประกันสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรับรองโดยแจ้งชัดหรือโดยปริยาย ย่อมได้รับความคุ้มครองและให้ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น การใช้และตีความเกี่ยวกับการออกประกาศฯมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงต้องยึดประโยชน์ผู้ใช้บริการเป็นที่ตั้ง ยึดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ และการคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว หน่วยงานของรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง คณะรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร รัฐวิสาหกิจ กรรมการป้องกันปราบปรามทุจริตแห่งชาติ กรรมาธิการวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ทุกฝ่ายย่อมต้องผูกพันในการบังคับใช้และตีความกฎหมายไม่ให้ลิดรอนเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้หรือตีความกฎหมายโดยถือเอาข้อจำกัดของกฎหมายมาเป็นข้อจำกัดในการคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารและประโยชน์สูงสุดของประชาชน
            สุดท้ายนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบการผูกขาดโดยสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตภายใต้กลไกตลาดและการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น และเพื่อเป็นการเยียวยาผู้ใช้บริการที่คงค้างในระบบราว 17 ล้านคนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยให้การจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนมีความต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง กสทช. ขอยืนยันว่า ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯฉบับนี้ได้ออกตามฐานอำนาจทางกฎหมายที่รองรับไว้ชัดเจน คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ คำนึงถึงหลักความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะ และความสอดคล้องกับกรอบการใช้อำนาจดุลพินิจตามกฎหมายปกครองโดยครบถ้วนแล้ว โดยหากทุกฝ่ายยึดมั่นในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และมีจุดหมายร่วมกันที่จะกระทำการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนแล้ว ก็จะสามารถก้าวพ้นอุปสรรคในเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายและทำให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปอย่างราบรื่นและประชาชนอย่างแท้จริง
           
 
 
            (โปรดติดตามตอนต่อไป) 
 

Download

  • ปุจฉา-ตอนที่-7.docx

สร้างโดย  -   (21/3/2560 14:03:59)