พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินการ "โครงการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศพท์ฉุกเฉินเข้าเป็นบริการ USO" ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
กสทช. ปรับกลยุทธ์ USO จับมือ สจล. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาแนวทางการจัดบริการ ฉุกเฉินเพียงเลขหมายเดียวทั่วราชอาณาจักรไทย
พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ในฐานะ กสทช. ดูแลด้านการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ Universal Service Obligation (USO) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินการ “โครงการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินเข้าเป็นบริการ USO” ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ณ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. โดยการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดแนวทางการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรไทย ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และภารกิจ USO ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และประกาศ กสทช. เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม พ.ศ.2555-2559 โดยเบื้องต้น สำนักงาน กสทช. และ สจล. จะร่วมกันดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน เพื่อนำผลการศึกษาครั้งนี้มากำหนดหลักการ และวางแผนงานจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินเลขหมายเดียวทั่วราชอาณาจักร (single emergency number) และการกำหนดใช้คลื่นความถี่กลางเฉพาะกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ รวมทั้งแนวทางบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ กสทช. ผลักดันให้มีการศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการจัดบริการเลขหมายฉุกเฉินเลขหมายเดียว ทั่วราชอาณาจักรไทย เป็นผลมาจากการให้บริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินในปัจจุบัน มีข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ อาทิเช่น
1. หน่วยงานที่ให้บริการฉุกเฉินมีเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินเป็นของตนเอง ประชาชนไม่สามารถจดจำเลขหมายฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆหรือจำได้ยาก ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกือบทุกกรณีส่วนใหญ่ประชาชนจะเลือกแจ้งเหตุไปยังตำรวจ “191” เพื่อขอความช่วยเหลือและขอให้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุนั้นๆ ทำให้ปริมาณการโทรแจ้งเหตุเลขหมาย “191” มีความหนาแน่นของการใช้คู่สายมากเกินไป จึงโทรติดยาก และต้องเสียเวลาตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่ประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาว่าเป็นเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก่อนที่จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน
2. ข้อจำกัดทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะเงื่อนไขการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการจะต้องมีลักษณะสนับสนุนภาวะเหตุฉุกเฉิน เช่น การให้บริการระบบโครงข่ายโทรคมนาคม การตั้งค่าโทรออกฉุกเฉิน การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ การตรวจสอบตำแหน่งจุดเกิดเหตุจากสัญญาณโทรศัพท์ และการค้นหาจุดเกิดเหตุจะต้องดำเนินการด้วยความแม่นยำและใช้เวลาน้อยที่สุด
3. ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ดำเนินการสำหรับการจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะ และโทรศัพท์ประจำที่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ห่างไกลเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสภาพการใช้งานและซ่อมบำรุงเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ และการยกเว้นค่าบริการโทรเข้าเลขหมายฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและข้อจำกัดของการให้บริการฉุกเฉินได้อย่างเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารจัดการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินในประเทศต่างๆ (Emergency Management) อาทิเช่น การให้บริการเลขหมายฉุกเฉิน '112' ในสหภาพยุโรป เลขหมายฉุกเฉิน '911' ในสหรัฐอเมริกัน เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรคมนาคมเพียงเลขหมายเดียวทั่วราชอาณาจักรไทย โดยสอดคล้องกับหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ตามภารกิจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการกรณีเหตุฉุกเฉิน (Emergency Service) ในประเทศไทย และการใช้คลื่นความถี่เฉพาะสำหรับภาวะเหตุฉุกเฉิน และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินงานทางเทคนิค วิธีการและเทคโนโลยีโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสาร และประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินที่สอดคล้องกับภารกิจ USO
ผลของความร่วมมือดำเนินการโครงการครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การกำหนดใช้คลื่นความถี่กลางและการกำหนดใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษกรณีฉุกเฉิน ให้เป็นมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ และข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินให้สอดคล้องกับภารกิจการจัดให้มีบริการ USO ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ควรดำเนินการขยายบริการอย่างไร เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.พิจารณาดำเนินการต่อไป
สร้างโดย - (20/3/2560 15:03:15)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 87