“สุทธิพล” ย้ำบทสรุปการประชุม WCIT-12

  • แม้จะจบลงไม่สวย แต่ในแง่มุมของประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

       จากการที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT-12) พร้อมด้วยคณะได้เข้าร่วมการประชุม ณ เมืองดูไบ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555 โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นที่จับตามองคือ การรวมเอา ICT และ internet เข้าไว้ในคำจำกัดความของโทรคมนาคมซึ่งหลายประเทศเช่น จีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางผลักดัน ล่าสุดหลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างดุเดือด และมีการแบ่งกลุ่มย่อยล็อบบี้ ทำให้เกิดการประนีประนอมโดยเสนอทางเลือกที่จะนำเอาประเด็นเรื่อง ICT  และอินเทอร์เน็ต บรรจุไว้ใน Resolution เพื่อให้มีการศึกษาต่อไป โดยยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในข้อความตกลงใดๆ  ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่อง ICT และอินเทอร์เน็ตจึงสามารถยุติลงได้โดยนำประเด็นเรื่องนี้ใส่ไว้ใน Resolution ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเสนอแนะและไม่มีผลผูกพันประเทศภาคี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มประเทศสมาชิก ITU รวมทั้งไทยที่แสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ประสงค์จะขยายคำจำกัดความของโทรคมนาคมให้รวมถึงประเด็นเรื่อง ICT และอินเทอร์เน็ต จึงถือเป็นความสำเร็จของคณะผู้แทนไทยที่มีส่วนร่วมในการผลักดันในเรื่องนี้ ทำให้สามารถที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ

        นอกจากในเรื่องดังกล่าวแล้ว ล่าสุดยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน กล่าวคือ การเพิ่มประเด็นการเคารพในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในอารัมภบท (Preamble Clause) ของร่าง International Telecommunications Regulations (ITRs) โดยที่ประชุมแบ่งเป็นสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบท อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรใส่ไว้ หรือหากจะใส่ไว้ก็ควรใช้ถ้อยคำที่ยืดหยุ่น   และไม่ผูกพันประเทศภาคี 

         ต่อประเด็นนี้ ดร.สุทธิพล มีความเห็นว่า ปัจจุบันโทรคมนาคมมีบทบาทที่สำคัญต่อประชาชน ดังนั้น กฎ กติกา และการกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน และประชาชนในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการใช้บริการโทรคมนาคม ควบคู่ไปกับการได้รับการปกป้องในสิทธิพื้นฐานของตน  โดยประเทศไทยได้เคารพกติกาสากลขององค์การสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด จึงควรสนับสนุนการบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบทฯ 

        โดยที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถตกลงกันได้โดยฉันทามติ ประเทศอิหร่านจึงเสนอให้มีการตัดสินด้วยการลงมติในประเด็นนี้  โดยที่ประชุมได้ลงคะแนนลับ  โดยผลปรากฎว่าเสียงข้างมากจำนวน 77 เสียง เห็นชอบให้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบท ของ ITRs นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ ที่มีส่วนทำให้หลักเกณฑ์โทรคมนาคมระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามในอารัมภบทนี้ได้มีการเพิ่มข้อความในวรรคสาม ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยอมรับสิทธิในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศของประเทศภาคี  ซึ่งทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปไม่พอใจ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ ด้วยเหตุนี้แม้ที่ประชุมส่วนใหญ่จะสามารถตกลงกันในร่าง ITRs ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป ไม่พอใจและกล่าวว่าจะไม่ลงนามรับรองร่างความตกลงใหม่นี้

          อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อนจำเป็นต้องนำไปศึกษาถึงผลกระทบและความสอดคล้องกับกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวน โดยประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนที่จะไม่ผูกพันตามร่าง ITRs นี้ หากมีประเด็นที่ขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศไทย และสงวนสิทธิที่จะตั้งข้อสงวนเพิ่มเติมก่อนที่จะให้สัตยาบัน รวมทั้งสงวนสิทธิที่จะดำเนินการใดๆ หากประเทศภาคีอื่นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เป็นผลจากการเจรจานี้หรือมีการตีความที่ไม่เหมาะสม 

         “เป็นที่น่าสังเกตว่าจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในกลุ่มยุโรปแสดงท่าทีที่จะไม่ลงนามรับรอง ขณะที่หลายประเทศตั้งข้อสงวนไว้หลายประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับปรุง ITRs แม้จะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่ก็อาจมองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากขาดสภาพบังคับ โดยหากร่าง ITRs มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม จะมีกลไกในการเยียวยาอย่างไร และจะมีหน่วยงานใดเป็นผู้ตีความบทบัญญัตินี้ เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป และน่าจะเป็นสงครามรักษาผลประโยชน์ทางโทรคมนาคม ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ในส่วนของประเทศไทย การเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้มองจากแง่มุมผลประโยชน์ของประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด

         อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ดร.สุทธิพล พร้อมคณะผู้แทนไทย ร่วมด้วย พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงไอซีที ได้มีการหารือกับ Dr.Hamadoun Toure เลขาธิการ ITU และ Mr. Houlin Zhao รองเลขาธิการ ITU โดยดร.สุทธิพล ได้แสดงความขอบคุณ ITU ที่ได้สนับสนุนโครงการการประเมินผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ของประเทศไทย ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ในการนี้ Dr.Toure ได้แสดงความยินดีกับ กสทช. ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในการประมูลคลื่นความถี่ 3G จนสามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่านนี้ ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งตนได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้มาโดยตลอด และทราบว่า ท่านประธาน กสทช. ได้ลงนามในใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ทั้งได้ส่งมอบใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลฯ ก่อนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยเลขาธิการ ITU เห็นว่า กสทช. ได้แสดงบทบาทในการเป็น Regulator ที่เหมาะสมแล้ว รวมทั้งได้ขอบคุณไทยที่จะเป็นเจ้าภาพ งาน Telecom World 2013 ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ณ กรุงเทพ และแนวโน้มที่ไทยจะรับจัดงาน Connect Asia Summit ควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งได้ชื่นชมที่ปัจจุบันไทย และ ITU มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างใกล้ชิด มีการร่วมกันทำงานในหลายๆ เรื่อง

          นอกจากนี้ ดร.สุทธิพล ได้ให้ข้อสังเกตต่อเลขาธิการ ITU ว่า หากร่าง ITRs ผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ ประเด็นที่จะเป็นปัญหาคือเรื่องการตีความบทบัญญัติดังกล่าว เพราะตนยังไม่เห็นว่ามีบทบัญญัติหรือกลไกใดที่จะมีอำนาจในการตีความ ITRs เมื่อเกิดปัญหาที่ประเทศภาคีมีความเห็นในการเห็นในการแปลความบทบัญญัติของ ITRs ที่แตกต่างกัน จึงเห็นว่าควรจะมีบทบัญญัติหรือกลไกในการตีความบทบัญญัติของ ITRs หากมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเลขาธิการ ITU ได้แสดงความขอบคุณต่อข้อสังเกตนี้และรับที่จะนำไปพิจารณาต่อไป 

สร้างโดย  -   (28/3/2560 16:16:53)

Download

Page views: 16