กทค.ต้อนรับปีม้า..! กดปุ่มสู่โหมดประมูลคลื่น 1800 MHz ชูธงเป็นปีแห่งการพัฒนาศักยภาพโทรคมนาคมเพื่อคนไทย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ผ่านพ้นไปเป็นปีที่ 2 กับบทบาทการทำหน้าที่ กสทช. ด้านกฎหมาย ในการปรับปรุงและพัฒนา กฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ในกิจการโทรคมนาคมให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเห็นว่าทิศทางการขับเคลื่อนงานในกิจการโทรคมนาคม สำหรับปี 2557 ควรจะเป็น “ปีแห่งการพัฒนาศักยภาพโทรคมนาคมเพื่อคนไทย” เพื่อให้แนวทางการทำงานในกิจการโทรคมนาคม มีความสอดคล้องกับนโยบายของบอร์ดกทค. ที่กำหนดให้ปี 2557 อยู่ในโหมดของการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อต่อยอดเทคโนโลยี 3 จี ไปสู่เทคโนโลยี 4 จี แบบบูรณาการ โดยมีโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าจะนำเอาคลื่น 900 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2558 มาจัดประมูลในคราวเดียวกันกับคลื่น 1800 MHz ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไอทียู โดยจะเน้นให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจัดประมูลกันเลยทีเดียว
• ปี 57 เตรียมความพร้อมสู่โหมดการจัดสรรคลื่น 1800 MHz แบบครบวงจร
สำหรับการขับเคลื่อนการทำงานในปี 2557 ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จะต้องเตรียมทุกองคาพยพเพื่อให้พร้อมสู่โหมดการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz แบบครบวงจร กล่าวคือการเตรียมความพร้อมในปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเลขหมายโทรคมนาคม เช่น จะเร่งให้มีการบังคับใช้ประกาศใหม่ของ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม ที่มีการสังคายนากติกาเกี่ยวกับเลขหมายโทรคมนาคมเพื่อจัดเตรียมเลขหมายโทรคมนาคมให้มีความคล่องตัวสามารถรองรับการเปิดบริการในระบบ 4 จี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในต้นปี 2557
ด้วยเหตุที่ผลของการออกใบอนุญาต 3 จีในปลายปี 2555 ทำให้มีการเติบโตของการเปิดบริการ 3 จี ในปี 2556 อย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2557 และจะมีการเติบโตของบริการ 4 จี ในปลายปี 2557 และ ปี 2558 ทำให้ต้องเตรียมการรองรับข้อพิพาทและข้อร้องเรียนที่จะเกิดจากการเปิดให้บริการ 3 จี และ 4 จี จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อรองรับศักยภาพทางด้านโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ต้องเร่งผลักดันให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำใดบ้างที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งจะเร่งปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคม เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม
นอกจากนี้จะเร่งรัดการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการที่ค้างการพิจารณาอยู่ เพื่อให้มีการประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อปรับปรุงให้กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมมีประสิทธิภาพ สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น
ในปี 2557 นี้ ยังจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมที่เพิ่งเปิดใหม่ให้เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยฯที่มีชีวิต โดยจะเน้นที่จะเติมเต็มองค์ความรู้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ใช้เป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางเลือกอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาเทคนิคการไกล่เกลี่ยในกิจการโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การไกล่เกลี่ยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกันศูนย์ไกล่เกลี่ยฯจะต้องทำงานในเชิงรุก โดยสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ให้บริการมือถือในทุกรูปแบบ ซึ่งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯแห่งนี้จะทำงานควบคู่ไปกับกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียน และ Call Center 1200 เพื่อให้การเยียวยาปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมทั้งในปี 2557 จำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในกิจการโทรคมนาคมให้เข้มแข็ง โดยจะใช้ช่องทางที่สำคัญ โดยผ่านคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ และปรับปรุงวิธีการทำงานของบอร์ดและสำนักงานฯ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตั้งแต่เริ่มกระบวนการออกกฎ กติกาต่างๆ แล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องให้หน่วยงานตรวจสอบและกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มกระบวนการเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและเพื่อมิให้เกิดช่องว่างทางด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ในกระบวนการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz จะดำเนินกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการให้ชัดเจนในแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้การดำเนินการต่างๆจะให้ความสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาล โดยเน้นหลักความสุจริตและโปร่งใสเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
อีกทั้งจะเน้นการต่อยอดองค์ความรู้และนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพโทรคมนาคม โดยจะสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการอย่างใกล้ชิดกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยจะมีการทำ MOU กับประเทศต่างๆมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีในกิจการโทรคมนาคมมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำความรู้จากต่างประเทศมาศึกษา และประยุกต์ใช้ในกิจการโทรคมนาคมของไทย
• สะสางกฎ กติกา กิจการดาวเทียมให้เกิดความชัดเจน
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเร่งสะสางปัญหาที่คาราคาซัง คือกิจการดาวเทียมสื่อสารซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนในทางปฎิบัติ ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553กำหนดให้กิจการดาวเทียมสื่อสารอยู่ในคำจำกัดความของกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีบทบัญญัติในส่วนรายละเอียดว่าจะกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารอย่างไร ทำให้การพิจารณาอนุญาตกิจการดาวเทียมสื่อสารต้องไปอิงกับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งไม่ได้บัญญัติครอบคลุมกิจการดาวเทียมสื่อสาร แม้แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือการให้คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ดาวเทียมสื่อสาร ยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตกิจการดาวเทียมสื่อสาร ก็เป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ที่ไม่ได้รองรับกิจการดาวเทียมสื่อสารส่งผลให้รัฐไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลโดยเฉพาะในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม และการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารในกรณีที่ไม่มีการใช้คลื่นความถี่ ว่าจะกำกับดูแลในส่วนของการประกอบกิจการอย่างไรจึงจะเหมาะสมและทำให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดอ่อนในเรื่องนี้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยอาศัยการออกประกาศที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่าพระราชบัญญัติ โดยในระยะยาว จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องยกร่าง พ.ร.บ.ดาวเทียม เพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะ หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เพื่อทำให้การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
• ไทยต้องชัดเจนในการใช้คลื่น 700 MHz เพื่อสอดคล้องกติกาสากล
อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องสร้างความชัดเจนในปี 2557 ก็คือ การใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ให้มีความสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ได้ปรับตารางการใช้คลื่นความถี่ย่านนี้ตามกติกาสากลเพื่อใช้กับกิจการโทรคมนาคม ขณะที่ไทยยังใช้กับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นจะต้องทบทวนตารางคลื่นความถี่เพื่อให้เป็นไปตาม กฎ กติกา สากล และป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทเรื่องปัญหาคลื่นรบกวนประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ตลอดจนเพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพจากการใช้ประโยชน์มหาศาลจากคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว
ในส่วนของการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่เวที AEC ที่จะมีขึ้นในปี 2558 นั้นชาติสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องร่วมมือกำหนดนโยบายโทรคมนาคมอาเซียนที่เป็นระบบ เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารของอาเซียนเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทั้งยังจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อรองรับข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการที่อยู่คนละประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาททางด้านโทรคมนาคมในอาเซียน
ดังนั้นในปี 2557 ไฮไลต์การทำงานของ กทค. จะบูรณาการการทำงานทุกองคาพยพและให้ความสำคัญต่อกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์จากศักยภาพด้านโทรคมนาคมที่จะมีการพลิกโฉมในเชิงรุก โดยนอกจากจะจัดการประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อใช้กับเทคโนโลยี 4 จี และคลื่นความถี่ในย่าน 900 MHz แล้ว ยังมีกรณีของการแก้ไขปัญหากิจการดาวเทียมสื่อสารที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ยากในการแก้ไขปัญหา อันเนื่องมากจากข้อกำจัดของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
................................................................................................................................................................
Download
กทค-ต้อนรับปีม้า-(เผยแพร่สื่อมวลชน).doc
สร้างโดย - (15/3/2559 15:17:37)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 26