กสทช. อนุมัติให้ปรับลดการ์ดแบนด์ของคลื่นความถี่ 900 MHz จาก 3.5 MHz เหลือ 1 MHz และนำส่วนเพิ่ม 2.5 MHz มารวมกับ 17.5 MHz ที่มีอยู่เป็น 20 MHz เพื่อนำไปประมูล พร้อมให้ชะลอการบังคับใช้หลักเกณฑ์การเรียงช่องรายการออกไปก่อนเพื่อป้องกันการสับสนของประชาชน และเร่งนำประกาศหลักเกณฑ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิฯของคนพิการให้ผู้พิการเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้ไปประกาศให้มีผลบังคับใช้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มี.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ ค.ศ. 2012 และนโยบายการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ และเห็นชอบให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติครั้งนี้   จะส่งผลให้การใช้งานคลื่นความถี่ของไทยสอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ ในหลาย ๆ ย่านความถี่    เช่น 50-54 เมกะเฮิรตซ์  146-147 เมกะเฮิรตซ์ และ 510-790 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น และยังจะทำให้สามารถประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะมีการประมูลในเดือนกันยายน 2558 นี้ สามารถนำความถี่มาประมูลได้ 20 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิม 17.5 เมกะเฮิรตซ์ โดยลดขนาดการ์ดแบนด์จากเดิม 3.5 เมกะเฮิรตซ์ เป็น         1 เมกะเฮิรตซ์ จึงได้คลื่นความถี่เพิ่มอีก 2.5 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 20 เมกะเฮิรตซ์

     ที่ประชุม กสทช. มีมติให้ชะลอการประกาศบังคับใช้ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ไว้ก่อนเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน โดยให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาข้อมูลการถอนฟ้องของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด แล้วนำให้เสนอต่อที่ประชุม กสท. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

      จากนั้น ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับร่างประกาศฉบับนี้จะบังคับใช้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่ให้บริการระดับชาติ โดยจะบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการบริการโทรทัศน์ในรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยจัดให้มีล่ามภาษามือสัดส่วนร้อยละ 5 ในปีที่ 1 และ 2 ร้อยละ 7 ในปีที่ 3 และ 4 และให้มีสัดส่วนร้อยละ 9 ในปีที่ 5 รวมถึงต้องจัดให้มีบริการคำบรรยายแทนเสียงสัดส่วนร้อยละ 40 ในปีที่ 1 และ 2 ร้อยละ 50 ในปีที่ 3 และ 4 และให้มีสัดส่วนร้อยละ 60 ในปีที่ 5 และต้องจัดให้มีบริการเสียงบรรยายภาพในสัดส่วนร้อยละ 5 ในปีที่ 1 และ 2 ร้อยละ 7 ในปีที่ 3 และ 4 และให้มีสัดส่วนร้อยละ 10 ในปีที่ 5 แต่ทั้งนี้ บริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีล่ามภาษามือต้องไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน บริการคำบรรยาย  แทนเสียง ต้องไม่น้อยกว่า 180 นาทีต่อวัน และบริการเสียงบรรยายภาพ ต้องไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน และให้มีมาตรการส่งเสริม คือ หากผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการมากกว่ามาตรการพื้นฐาน ก็มีสิทธิที่จะยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ได้ และเปิดให้องค์กรแต่ละประเภทความพิการและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องประเมินคุณภาพของการให้บริการทั้ง 3 นี้ได้ ซึ่งหากผู้รับใบอนุญาตฯ ไม่ดำเนินการตามประกาศต้องระวางโทษปรับ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในวาระเริ่มแรก จะให้ให้มีบริการใดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาที จากนั้นเมื่อครบกำหนด 1 ปี ให้ดำเนินการโดยให้มีทั้ง 3 บริการ ในเวลารวมกันไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาที และเมื่อครบกำหนด 2 ปี จึงให้เริ่มใช้สัดส่วนตามที่ประกาศกำหนด

     ต่อจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบการนำร่างประกาศ กสทช .เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลค่าบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  พ.ศ. ....  ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป  สาระสำคัญร่างดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการกำกับอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ให้สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการ ไม่เป็นภาระของผู้บริโภคและคำนึงประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลที่ดีที่มีการแทรกแซงตลาดให้น้อยที่สุด เพื่อให้กำกับดูแลตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการแข่งขัน หรือมีการแข่งขันน้อย หรือการแข่งขันนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหรือต่อผู้ใช้บริการ โดยหากมีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการหรือเป็นภาระต่อผู้ใช้บริการโดยไม่สมเหตุผลหรือมีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าอันมีผลให้ไม่มีการแข่งขันด้านราคาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการอาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการให้ได้รับความเป็นธรรม โปร่งใส และเท่าเทียมกัน

     และที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ กิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz (E-band) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) และ 81-86 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) และ 81-86 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ซึ่งการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในย่าน E-band นี้ จะรองรับการใช้งานแบบจุดต่อจุดที่ต้องการความจุสูง (High Capacity Point-to-Point) เช่น การใช้งานในโครงข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีฐานและโครงข่ายหลัก (Mobile Backhaul) ในโครงข่าย 4G หรือการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายการสื่อสารภายในองค์กรที่ทันสมัย รองรับปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

     นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ ย่าน 806-824/851-869 MHz จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ย่านความถี่ 806-824 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 851-869 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ทางบก ระบบ Trunked Radio ย่านความถี่ 806-814 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 851-859 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยการออกประกาศในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงแผนความถี่วิทยุจากแผนความถี่วิทยุย่าน 800 MHz เดิมของกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้รองรับการใช้เทคโนโลยี Digital Trunked Radio อีกทั้งเพื่อเตรียมคลื่นความถี่สำหรับรองรับกิจการสื่อสารความเร็วสูงเพื่อภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (Broadband Public Protection and Disaster Relief: Broadband PPDR) ให้สอดคล้องเป็นไปตามข้อมติของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ กสทช. จึงหวังว่า การออกประกาศทั้งสองฉบับนี้จะสอดคล้องเป็นไปตามความต้องการใช้งานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่อไป  

 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (9/3/2559 14:13:16)

Download

Page views: 202