กสทช. แถลงผลการดำเนินการปี 2557 และทิศทางการดำเนินงานปี 2558
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2557 กสทช.ได้มีการดำเนินการประสบผลสำเร็จตามแผนในหลายเรื่อง ทั้ง การแจกคูปองดิจิตอลทีวี ที่คนไทยทั่งทั้งประเทศได้รับชมกันแล้วทั้งผ่านกล่องแปลงสัญญาณเซ็ท ท๊อป บอกซ์ ระบบเคเบิ้ล และดาวเทียม เท่าที่ได้รับทราบส่วนใหญ่ก็พึงพอใจในคุณภาพสัญญาณที่คมชัด จำนวนช่องรายการที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยพึงพอใจในเนื้อหารายการซึ่งจากผังรายการใหม่ของปี 2558 ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อในปี 58 สำหรับดิจิตอลทีวีคือ การเร่งรัดติดตามการขยายโครงข่ายและการพิจารณาข้อเสนอผู้ประกอบการในการขอขยายเวลาการส่งมอบเงินประมูลงวดที่ 2 และงวดต่อๆ ไป สำหรับด้านโทรคมนาคมคือการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เพื่อนำรองรับการพัฒนาสู่ระบบ LTE 4 G ของประเทศไทย ซึ่งวันนี้มีการใช้งานอินเทอร์เนตของประชาชนได้เติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่รายงานสหภาพโทรคมนาคมโลก ปี 2557 ยังให้การยอมรับว่าประเทศไทยมีอัตราการเข้าใช้อินเทอร์เนตเร็วที่สุดในโลก การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จึงมีความสำคัญและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ได้ชี้แจงประโยชน์และความจำเป็นแล้ว จึงเป็นทิศทางและแนวโน้มที่ดีที่จะเร่งดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวอีกครั้งของประเทศไทยในปี 2558 นี้
ด้านผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2557 ที่ได้ดำเนินการเพื่อส่วนสนับสนุนนโยบายคืนความสุขประชาชนคนไทย ได้แก่ ดิจิตอลทีวี นับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2557 ที่ผ่านมาคนไทยมีช่องรายการฟรีทีวีใหม่เพิ่มขึ้นอีก 27 ช่อง เป็นการเพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกในการรับชมเนื้อหาสาระ ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ตามความต้องการ รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย
การแจกคูปองดิจิตอลทีวีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล มูลค่า 690 บาท ผ่านทางไปรษณีย์ตอบรับส่งตรงถึงบ้าน เพื่อนำไปแลกซื้อกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ราคา 690 บาท หรือนำไปเป็นส่วนลดซื้อเซ็ตท็อปบ็อกซ์ที่ราคาสูงกว่า 690 บาท หรือนำไปเป็นส่วนลดซื้อทีวีดิจิตอล ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ทำการแจกคูปองออกไปแล้ว 3 ครั้ง เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 7,045,896 ฉบับ ให้กับ 7,045,896 ครัวเรือน ในพื้นที่ 45 จังหวัด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 2.นนทบุรี 3.นครปฐม 4.ปทุมธานี 5.สมุทรปราการ 6.สมุทรสาคร 7.พระนครศรีอยุธยา 8.สิงห์บุรี 9.อ่างทอง 10.ระยอง 11.สุพรรณบุรี 12.หนองคาย 13.สุโขทัย 14.อุดรธานี 15.ฉะเชิงเทรา 16.สมุทรสงคราม 17.พัทลุง 18. สงขลา 19.นครนายก 20.ราชบุรี 21.ชัยนาท 22.ชลบุรี 23.กาญจนบุรี 24.ปราจีนบุรี 25.เพชรบุรี 26.สระบุรี 27.นครราชสีมา 28.เชียงใหม่ 29.ลำพูน 30.ปัตตานี 31.อุบลราชธานี 32.อำนาจเจริญ 33.สุราษฎร์ธานี 34.จันทบุรี 35.ลพบุรี 36.พิษณุโลก 37.กำแพงเพชร 38.พิจิตร 39.ขอนแก่น 40.มหาสารคราม 41.กาฬสินธุ์ 42.สระแก้ว 43.ร้อยเอ็ด 44.เชียงราย และ45.นครสวรรค์
สำหรับด้านการติดตั้งสถานีเพื่อขยายโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ณ วันที่ 19 ธ.ค. 2557ของผู้ประกอบการโครงข่ายทั้ง 4 รายพบว่า ไทยพีบีเอส ติดตั้งพร้อมให้บริการแล้วจำนวน 25 สถานี กองทัพบก (ทั้ง 2 โครงข่าย) ติดตั้งพร้อมให้บริการแล้วจำนวน 23 สถานี บมจ. อสมท ติดตั้งพร้อมให้บริการแล้ว 16 สถานี กำลังดำเนินการ 9 สถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2558 และสำหรับกรมประชาสัมพันธ์ อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้ออุปกรณ์ จึงยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งในด้านการติดตามกำกับดูแลคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติในการประชุมวันที่ 8 ธ.ค. 57 ให้ออกมาตรการบังคับทางปกครองให้ กรมประชาสัมพันธ์ และ บมจ. อสมท เร่งดำเนินการติดตั้งสถานีที่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และหากไม่แล้วเสร็จกำหนดปรับวันละ 20,000 บาท จนกว่าจะแล้วเสร็จ
นับถึงปัจจุบัน (5 มกราคม 2558 เวลา 10:00 น.) มีจำนวนคูปองดิจิตอลทีวีที่นำไปใช้แลกซื้ออุปกรณ์เพื่อการรับชมแล้วจำนวน 2,380,535 ฉบับ ส่งผลให้จำนวนผู้รับชมดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยส่วนหนึ่งรับชมจากกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการรับชมผ่านจานดาวเทียมหลังการแจกคูปองดิจิตอลทีวี รวมทั้งในช่วงปลายปีนี้ก็ได้มีความเคลื่อนไหวของการปรับผังรายการมีการปล่อยรายการใหม่ที่มีคุณภาพกันมากขึ้น หลายสินค้าก็เริ่มให้ความสนใจในการลงโฆษณามากขึ้นโดยเฉพาะช่องที่เรตติ้งสูงๆ เช่น เวิร์คพอยท์, ช่อง 8 โมโน, ทรูโฟร์ยู และไทยรัฐทีวี
ด้านรายได้จากการโฆษณาจากรายงานการใช้สื่อโฆษณารวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2558 ของบริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จํากัด พบว่ามีมูลค่ารวม 93,800 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 10% หรือมีมูลค่าลดลง 7,851 ล้านบาท ทั้งนี้โดย สื่อโทรทัศน์ทั้งระบบแอนาล๊อกและดิจิตอลรวมมีมูลค่า 58,922 ล้านบาท คิดเป็น 92.81% วิทยุ 5,118 ล้านบาทคิดเป็น 5.45% และสื่ออินเทอร์เน็ต 865 ล้านบาท คิดเป็น 0.92% โดยอินเทอร์เนตเป็นเพียงสื่อเดียวที่มีการการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามดิจิตอลทีวีนับเป็นสื่อใหม่ที่มีแนวโน้มที่ดีโดยในปีหน้าหลายสินค้ามีการจัดสรรงบประมาณโฆษณาในสื่อนี้กันแล้วซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดียิ่ง
นายฐากร กล่าวว่า ด้านกิจการโทรคมนาคม โดยภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทุกย่านความถี่ จำนวน 103 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2.1 GHz จำนวน 73.5 ล้านเลขหมาย และบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่อื่น ๆ ลดลงเหลือเพียง 29.5 ล้านเลขหมาย
นอกจากนี้ในปี 2557 สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น 2 แชะ เพื่อกระตุ้นการลงทะเบียนซิมการ์ดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ พรีเพด ทั้งในส่วนผู้ใช้บริการรายใหม่และรายเดิมด้วยความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวจะได้รับการปกป้องและเก็บรักษาอย่างปลอดภัยเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมลงทะเบียนซิมเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นสุขและปลอดภัยร่วมกันด้วยการลดปัญหาสังคม ทั้งการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อกวน ข่มขู่ หลอกลวง ซื้อขายยาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฎหมาย การก่ออาชญากรรม รวมถึงการจุดชนวนระเบิดเพื่อก่อวินาศกรรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถสืบค้นหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จากการขยายจุดบริการลงทะเบียนไปยังตัวแทนจำหน่ายด้วยแอพพลิเคชั่น 2 แชะตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2557ที่ผ่านมาแล้วกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศ รวมถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ 7-11 เทสโก้โลตัว และ บิ๊กซี ได้เปิดบริการเป็นจุดรับลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ซื้อซิมการ์ดใหม่และกำลังดำเนินการกระจายการใช้งานไปยังทุกสาขาทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านแอพพลิเคชั่น 2 แชะในทุกช่องทางแล้ว 1,192,224 เลขหมาย และเป็นโครงการต่อเนื่องที่จะทำต่อเนื่องในปี 58 ด้วย
ด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 1800 MHz ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 94/2557 และประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 94 ที่ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองออกไปอีก 1 ปี จนถึง 17 ก.ค. 2558 ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2557 ในส่วนของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ยังมีเลขหมายในระบบจำนวน 3.87 ล้านเลขหมาย ซึ่งเมื่อเมื่อเทียบกับจำนวนเลขหมายคงค้างอยู่ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2556 ที่มีจำนวน 13.67 ล้านเลขหมาย พบว่าลดลงแล้วจำนวน 9.80 ล้านเลขหมาย จำนวนเลขหมายที่มีการใช้งานประจำ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2557 พบว่ามีจำนวน 437,050 เลขหมาย ด้านรองรับการดำเนินการได้มีการขยายระบบการโอนย้ายเลขหมายผ่านกระบวนการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability: MNP) เป็น 60,000 เลขหมายต่อวันต่อผู้ให้บริการ และมีการส่ง SMSเพื่อแจ้งเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ไปยังผู้ใช้บริการทุกเลขหมาย จำนวน 1 - 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อทำความเข้าใจและกระตุ้นการโอนย้ายของผู้ใช้บริการเพื่อให้เป็นไปตามการบังคับใช้กฏหมายและการนำคลื่นความถี่ไปใช้เพื่อพัฒนาบริการโทรคมนาคมของประเทศต่อไป
ด้านปัญหา SMS SPAM สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดช่องทางการยกเลิก SMS ผ่านรหัสบริการ *137 เบอร์เดียวทุกเครือข่าย ยกเว้น TOT3G ด้วยการพิมพ์ชื่อผู้ส่งที่ไม่ต้องการ เว้นวรรค แล้วพิมพ์ b แล้วส่ง SMS ไปที่หมายเลข 137 (ฟรีทุกเครือข่าย) และได้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ในส่วนปัญหาเรื่องบิลช็อค หรือ ผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ได้ใช้ในต่างประเทศ (International Roaming) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากค่าบริการดาต้าโรมมิ่งระหว่างประเทศ (International Data Roaming) ที่เกิดขึ้นจากการนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนไปใช้งานในต่างประเทศ สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดเลขหมายและวิธีการปิดบริการดาต้าโรมมิ่งทุกเครือข่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายผ่านรหัสบริการโดยกด *106# แล้วกดโทรออก เพื่อปิดบริการดาต้าโรมมิ่งเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา นอกจากนี้ในส่วนของปัญหาจากบริการโรมมิ่งบริเวณชายแดน ได้ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการถูกคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติและนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ในจังหวัดบึงกาฬ หนองคาย เชียงราย เลย นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี
ในส่วนของทิศทางการดำเนินงานในปี 2558 เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงงานที่จะทำในปี 2558 ว่าสำนักงานฯ มีแผนจะดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ดังนี้
1. แจกคูปองดิจิตอลทีวี ให้ครบทั้ง 14.1 ล้านครัวเรือน โดยจะทยอยแจกในอำเภอที่มีสัญญาณครอบคลุมตั้งแต่ 80% แล้ว อย่างต่อเนื่อง และจะเสนอต่อ คสช. ขอแจกคูปองให้กับกลุ่มผู้ที่ใช้ทะเบียนบ้านชั่วคราว กลุ่มที่ตกสำรวจ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการ
2. กำกับดูแลให้มีการดำเนินการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลครอบคลุ่มทั่วประเทศตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อขยายพื้นที่การรับชมของประชาชนให้สามารถรับสัญญาณจากระบบภาคพื้นดินได้อย่างเท่าเทียมกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับชมดิจิตอลทีวีของประชาชนบางส่วนที่ยังรับชมผ่านระบบเคเบิ้ลบอกรับสมาชิกเนื่องจากพื้นที่รับชมยังไม่อยู่ในพื้นที่บริการ
3. ให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ ประเภทกิจการบริการสาธารณะอีก 3 ใบอนุญาต
4. การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาระบบ 4 G LTE รองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เนตของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอีโคโนมี่ของรัฐบาลอีกด้วย
5. การประมูลเลขสวย เลขาธิการ กสทช. ได้ให้รายละเอียดโครงการนี้ว่า เตรียมนำเลขหมายสวยด้วยการจัดเรียงที่เป็นที่นิยมทั้งเลขเดียวกันวางติดกัน 5 หลัก (089-12x-xxxx) 6 หลัก (081-2xx-xxxx) ที่มีการกำหนดราคาขายสูงมากในตลาดจนเกิดเป็นธุรกิจซื้อขายเลขหมายสวยขึ้นทั้งตามร้านค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบน web site ออกมาประมูลเพื่อนำเงินส่งรัฐเป็นรายได้แผ่นดิน โดยการนำเลขหมายสวยจำนวนกว่าแสนเลขหมายออกประมูลเลขหมายครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเป็นเจ้าของได้ เช่นเดียวกับการประมูลเลขทะเบียนรถยนต์ โดยเลขหมายบางประเภทก็ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาดมาก่อน เช่น เลขหมายที่เป็นตัวเหมือนติดกัน 9 ตัว (099 999 9999) 8 ตัว (098 888 8888) 7 ตัว (098 999 9999) และ 6 ตัว (091 199 9999) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบเลขหมายสวยได้มีสิทธิมาเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ และที่สำคัญที่สุด รายได้จากการประมูลเลขหมายสวยนี้ ซึ่งสำนักงาน กสทช. คาดว่ามีมูลค่าหลักพันล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับการแข่งขันในการประมูล สำนักงาน กสทช. จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
6. การพัฒนาระบบการลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi โดยจะใช้หลักการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวให้สามารถแสดงตัวตนในการเข้าใช้งาน WiFi ได้ทุกที่ทั่วประเทศ หรือ Single Sign On โดยในปี 58 จะกำหนดให้ผู้ใช้บริการ wi-fi ต้องลงทะเบียนการใช้งาน เพื่อแสดงตัวตนและตรวจสอบยืนยันผู้ใช้งานจริง เพื่อร่วมกันสร้างความมั่งคงและปลอดภัยของสังคมไทย ลดการแอบอ้างข้อมูลส่วนตัวมาเข้าใช้งาน และหากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องหรือใช้ในการกระทำผิด เช่น การ hack ข้อมูลส่วนตัว หรือการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็จะทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง ซึ่งการลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต WiFi นี้จะเป็นการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็จะสามารถแสดงตัวตนในการเข้าใช้งาน WiFi ได้ทุกที่ทั่วประเทศ หรือ “Single Sign On” เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทั้งกับตนเองผู้ในการที่จะไม่ถูกนำไปแอบอ้างใช้งานในทางที่ผิด และยังเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สร้างโดย - (9/3/2559 15:50:42)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 94