บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2557

บอร์ด กสท. เผยมติ ประชุม 24 มีนาคม 2557 พร้อมยืนยันหลักเกณฑ์ Must Have เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิของเอกชนเกินสมควร

    พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.)  กล่าวว่า วันนี้ (24 มีนาคม 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้

    เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 50 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 48 ราย กิจการบริการสาธารณะ 1 ราย และกิจการบริการชุมชน 1 ราย รวมทั้งสิ้นถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ทั่วประเทศ 4,186 ราย

    เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบคำขออนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ กรณียื่นคำขอใบอนุญาตใหม่หลังจากใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด จำนวน 3 ราย 3 ช่องรายการ ได้แก่

         1.บริษัท ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ช่องรายการ Vike Channel

         2.บริษัท ไทยไชโย จำกัด ช่องรายการ THAICHAIYO Channel

         3.บริษัท ป๊อป ทีวี จำกัด ช่องรายการ POP TV

    เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบคำขออนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ กรณียื่นคำขออนุญาตใหม่ กรณีที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด จำนวน 18 ช่องรายการ ที่ได้รับใบอนุญาต 2 ปี

    โดยมี 1ช่อง  คือ OK Life Asean Channel ให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาภายใน 30 วัน และอีก 11 ช่อง ที่ไม่มายื่นภายในวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ให้ยุติการออกอากาศ แต่ไม่ตัดสิทธิ์การมาขอใบอนุญาตใหม่

    เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบคำขออนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ กรณียื่นขอเป็นครั้งแรก จำนวน 2 รายการ 6ช่องรายการ ได้รับใบอนุญาตให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นเวลา 1 ปี แบ่งเป็นช่อง CTH จำนวน 5 ช่องรายการ ได้แก่ Fox Family movies, National Geographic, National Geographic HD, Sport Spirit, Fox Movies Premium    และจาก บริษัท กกตาลคู่บัวขาว จำนวน 1 ช่องรายการ ได้แก่ ออนซอนทีวี

    เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณี การออกอากาศภาพยนตร์เรื่อง “วันนรกกัดไม่เหลือซาก” ทางช่อง M-Channel (ช่อง25) ที่ประชุมเห็นว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกิดให้ก่อความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง ผิดมาตรา 37ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 จึงมีมติปรับทางปกครอง จำนวน 50,000 บาท

    เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ความถี่ เอฟ.เอ็ม. 105.5 เมกกะเฮิร์ตซ กรุงเทพมหานคร ระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด

    เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. อนุญาตให้ 3 โครงข่าย ได้แก่ กองทัพบก อสมท และ ThaiPBS ทดลองแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ เพื่อทดลองทดสอบทางเทคนิคก่อนการให้บริการจริง ตั้งแต่วันที่ 1-24 เมษายนนี้

และให้ TC Broadcasting ทดลองทดสอบเชื่อมต่อโครงข่ายเพื่อดำเนินการตามประกาศ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ตั้งแต่วันที่ 1-24 เมษายน 2557 โดยมีเงื่อนไขในช่วงเวลาทดลองห้ามแสวงหารายได้ในเชิงธุรกิจ

    พ.อ.ดร. นที กล่าวว่า กรณีการออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) นั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญของประกาศฉบับนี้ เพื่อการสร้างความเท่าเทียมของคนไทยทุกคนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากกิจการโทรทัศน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะรายการที่มีความสำคัญต่อทุกคน เป็นการกำหนดขอบเขตของประโยชน์ของเอกชนกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นเป็นกติกาที่เป็นสากล ซึ่งในการออกประกาศฉบับนี้ ทางกสท. นอกจากได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคแล้ว โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิของเอกชนเกินสมควร ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์อยู่ก่อนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)  มีผลบังคับใช้  สามารถร้องขอต่อ กสท. เพื่อขอยกเว้นได้ ซึ่งทางบริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) เจ้าของลิขสิทธิ์ ได้ร้องขอผ่อนผัน โดยอ้างถึงข้อจำกัดของข้อสัญญากับฟีฟ่า

    ทาง กสท.ได้ขอสำเนาเอกสารสัญญาเพื่อประกอบการพิจารณาจากบริษัทอาร์เอสฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Have จำนวน 3 ครั้งในชั้นของสำนักงาน และอีก 2 ครั้งในชั้นของกรรมการ กสท. แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

   จนท้ายที่สุดบริษัทอาร์เอสฯ ได้ขอถอนเรื่อง โดยแสดงความจำนงว่าไม่ต้องการให้ กสท. พิจารณาคำร้อง และใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนประกาศดังกล่าว และศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศฯ โดยสาระสำคัญของประกาศไม่ได้จำกัดสิทธิ์ของบริษัทอาร์เอสในการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์แต่อย่างใด และศาลได้วินิจฉัยว่าประกาศไม่มีผลย้อนหลังต่อเอกชน เพราะกำหนดวันบังคับใช้ให้เริ่มหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่สามารถมีผลย้อนหลังได้ หากสัดส่วนระหว่างประโยชน์มหาชนสูงกว่าประโยชน์ของปัจเจกชนที่เสียไปทางสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมแนวทางดำเนินงานหลังศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

    กรณีที่ศาลยกฟ้องและไม่มีการอุทธรณ์เกิดขึ้น ประชาชนจะได้ดูฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายครบทั้ง 64 นัด ตามประกาศและให้ทางสำนักงานฯเผยแพร่บทคัดย่อคำพิพากษาและเผยแพร่คำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศ

    กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศทั้งหมดหรือบางส่วน ทาง กสท.จำเป็นต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแล เพราะประกาศดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนที่จะได้เข้าถึงบริการโดยปราศจากข้อจำกัด เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและนำคำวินิจฉัยยกคำร้องขอทุเลาตามประกาศของศาลขั้นต้นมาประกอบ

    กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศในช่วงการอุทธรณ์ นอกจากทาง กสท.จะอุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว จะต้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งการทุเลา โดยยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินทันที

Download

  • Pressreleaseที่ประชุมกสท-17มีค57.docx

สร้างโดย  -   (14/3/2559 18:30:40)

Download

Page views: 46