ผลการประชุม คกก.ร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย- ลาว

พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภารกิจภูมิภาคและบูรณาการ

            ได้รับมอบหมายจาก เลขาธิการ กสทช. ให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย- ลาว (Joint Technical Committee on Coordination and Assignment of Frequencies along Thailand – Laos common Border: JTC) ครั้งที่ 4 ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 24 - 26 กันยายน 2556 พร้อมด้วยผู้แทนจากผู้ประกอบการทั้งด้านกิจการกระจายเสียง ทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย หน่วยงานเพื่อความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงปัญหาการรบกวนคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน พร้อมทั้งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

            รองเลขาธิการ กสทช. พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กล่าวถึงการประชุม JTC ไทย – ลาว ว่า ปรกติมีการประชุมปีละหนึ่งครั้งและจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ

            โดยในการประชุมครั้งที่ 4 นี้ สปป.ลาว รับเป็นเจ้าภาพ โดยมี ฯพณฯ สีทอง ทองเกด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม สปป.ลาว เป็นประธาน เปิดการประชุม และท่านสมลิด ภูทอนสี อธิบดีกรมโทรคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของ สปป.ลาว

            ในการประชุม JTC ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานภาพการใช้คลื่นความถี่ของแต่ละประเทศ และมีการแบ่งกลุ่มทำงานเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (Broadcasting Service) และ ด้านกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคม (Mobile and Non-broadcasting Service) ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่ทางฝ่าย สปป. ลาวได้ร้องขอให้ดำเนินการแก้ไขซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี และได้ยกระดับปัญหาไปสู่การ ประชุมระหว่างประเทศ ได้แก่ การใช้คลื่นความถี่ HSPA 850 MHz ของผู้ประกอบการประเทศไทย รบกวนการใช้คลื่นความถี่ GSM 900 MHz ของ สปป.ลาว จนทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ส่งผลให้คุณภาพของบริการด้อยลงและลูกค้าของผู้ประกอบการลดลงอย่างมาก ผลการประชุมได้ข้อยุติในแนวทางในการแก้ปัญหาและกำหนดเงื่อนไขในการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี จากผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการที่ทาง พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ไปเข้าร่วมตรวจสอบสถานการณ์จริงในพื้นที่ในช่วงต้นเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อเตรียมการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ทาง สปป.ลาว มีความพึงพอใจในการมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยใจจริง นอกจากนั้นผลการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือในหลักการร่วมกัน ในการที่จะต้องกำกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้งสองประเทศไม่ให้แพร่คลื่นความถี่ล้ำ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านเกินกว่าระยะจากแนวเขตชายแดนที่ตกลงกันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้โทรศัพท์ข้ามแดนที่ไม่ต้องการ นอกจากนั้นยังเห็นชอบใน หลักการให้มีการแจ้งจดทะเบียนการใช้คลื่นความถี่ตามแนวชายแดนระหว่างสองประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการรบกวนในอนาคต นอกจากนั้นสำหรับ ประเด็นทางด้านกระจายเสียงนั้น ได้เห็นชอบในการที่จะกำหนดคลื่นความถี่ที่จะใช้สำหรับระบบ Digital TV เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน และได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขกรณีวิทยุชุมชนรบกวนกิจการทางการบินของ สปป.ลาวด้วย และในช่วงท้ายของการประชุม พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ฯ ได้เสนอในที่ประชุมว่า เนื่องจากการประชุม JTC ไทย- ลาว มีขึ้นปีละ 1 ครั้ง ไม่น่าจะเพียงพอกับการแก้ปัญหา และเกรงว่าหากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อเป็นเวลานานจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเสนอให้เห็นชอบร่วมกันที่จะมีคณะทำงานเฉพาะกิจใน ประเด็นกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้จัดประชุมอย่างน้อยปีละสองครั้ง และไทยจะรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจครั้งต่อไป นอกจากนั้นควรจะมีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะ Exchange Visit Program เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะสำนักงาน กสทช. เขต ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาว เพื่อได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ ของ สปป.ลาว พร้อมกับทราบมาว่าทาง สปป.ลาวมีโครงการที่จะจัดตั้งสถานีตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Monitoring) นอกเขตนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งทาง กสทช. มีประสบการณ์ดังกล่าวมาเป็นเวลานานพร้อมที่จะเสนอความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและฝึกอบรมให้ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งทาง สปป.ลาว ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวด้วยดี

            พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้นำผลการประชุมและแนวคิดดังกล่าวกลับมารายงานต่อ เลขาธิการ กสทช. และประธาน กสทช. ซึ่งทั้งสองท่านได้เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และจะได้จัดทำเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการดำเนินการต่อไป และยังได้สนับสนุนให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรร ความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย- ลาว อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจอันดี และประสิทธิภาพในการใช้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ของประชาชนทั้งสอง ประเทศต่อไป 

สร้างโดย  -   (18/3/2559 14:39:16)

Download

Page views: 33