พ่อแม่ผู้ปกครองร้อง! กสทช ออกกฎเหล็กคุมเข้มโฆษณาอาหารเด็ก
วันนี้ (อังคารที่ 26 สิงหาคม 2557) ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ซอย สายลมคณะเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ได้เข้ายื่นหนังสือผ่าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ถึง ประธาน กสทช. เรื่องขอให้ออกมาตรการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็กทางโทรทัศน์
นายอำนาจ แป้นประเสริฐ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กล่าวว่าที่ผ่านมาเครือข่ายได้ทำการศึกษาและติดตาม โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี ในปัจจุบันพบว่ามีการโฆษณาอย่างไม่เป็นธรรมต่อเด็ก เพราะมีโฆษณาที่เป็นโฆษณาอาหาร ที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้ ยังใช้เทคนิคการโฆษณาสารพัดรูปแบบ เพื่อจูงใจให้บริโภค เช่น ใช้พรีเซ็นเตอร์ดารา คนดัง ตัวการ์ตูน เน้นเรื่องรสชาติ การกระตุ้นให้บริโภคเกินจำเป็น การโน้มนำว่ามีคุณค่า ราคาถูก บริโภคแล้วจะเด่น หากไม่บริโภคแล้วจะด้อยกว่าคนอื่น ทั้งมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก และยังพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบอีกด้วย ซึ่งโฆษณาอาหารดังกล่าวจงใจนำเสนอให้แก่กลุ่มเป้าหมายเด็กเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคโดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม หวั่นใจว่าเด็กเล็กและเยาวชนไม่รู้เท่าทันการโฆษณาที่ทำให้มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและสุขภาพของตัวเด็กเอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพเด็ก
เครือข่ายขอเสนอแนวทางต่อ กสทช.ต้องออกระเบียบเรื่องการโฆษณาทั้งทางตรงและทางแฝงให้ชัดเจน เน้นการกำกับดูแลการสื่อสารการตลาดทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจ ค่านิยม และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งควรออกระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้ ไม่มีการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการสำหรับเด็กหรือกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เดียวกัน จัดทำโฆษณาแยกกันคือโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เป็นพิษภัยต่อเด็กเพื่อเผยแพร่ในช่วงเวลารายการสำหรับเด็ก และโฆษณาที่มีเนื้อหาสำหรับคนทั่วไป และ กสทช.ควรมีกลไกติดตามและตรวจสอบการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการ/ช่องสถานีสำหรับเด็กที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผลในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างทันท่วงที ไม่ใช่เพียงรอรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น ทั้งนี้ในการติดตามและตรวจสอบ กสทช. อาจสนับสนุน หรือดำเนินการร่วมกับหน่วยงาน/องค์กรการศึกษาด้านการวิจัยการคุ้มครองผู้บริโภคหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมมือกับ องค์การอาหารและยา (อย.) คอยติดตามและตรวจสอบโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ยกตัวอย่างโฆษณาบางตัวที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ออกอากาศในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม วิธีแก้คือต้องเรียกทางช่องมาหารือกันและจัดเรทให้เหมาะสม ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ตั้งแนวทางการดำเนินงานต่อปัญหาและข้อกังวลที่เกิดขึ้นไว้ 3 แนวทาง คือ 1. เชิญทางช่องมาคุยกัน ในเรื่องของโฆษณาแฝงในรายการ (tie in) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสำนักงาน กสทช. กำลังสร้างกฎกติกากันอยู่ 2. เชิญทางเอเจนซี่โฆษณา มาพูดคุย เกี่ยวกับการยกระดับจรรยาบรรณโฆษณา รวมถึงการจัดเรทโฆษณา 3. ออกประกาศเกี่ยวกับการโฆษณาเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น
เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ประกอบด้วยองค์กร ดังนี้สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลศึกษา (สนับสนุนด้านวิชาการ) และแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนา เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สนับสนุนด้านวิชาการ)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Download
Press-Release.docx
สร้างโดย - (10/3/2559 16:49:52)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 118