สำนักงาน กสทช. เตรียมความพร้อมซ้อมแผนภัยพิบัติ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

     พลอากาศตรี ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านการสื่อสารให้สามารถประสานงานและพร้อมปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ และสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ตลอดจนเป็นการสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องให้กับเจ้าหน้าที่  หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครและนักวิทยุสมัครเล่น  ซึ่งเป็นหน่วยในการเข้าเผชิญเหตุในเบื้องต้นให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันตามแผนได้อย่างสอดคล้องกัน

    สำนักงาน กสทช. จึงได้ร่วมมือกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดให้มีโครงการ “ฝึกซ้อมแผนบูรณาการบุคลากรและข่ายวิทยุสื่อสาร กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ” และการอบรมหลักสูตร “การใช้เครื่องวิทยุคมนาคมแบบสังเคราะห์ความถี่ของหน่วยงานภาครัฐ” ในวันที่ 23–24 มิถุนายน 2559 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ และมี นายกฤตธิพัฒน์ กลขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 9 (เชียงใหม่) เป็นผู้ควบคุมการฝึกและดูและการฝึกซ้อม ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมจากทั้งหมด 7 อำเภอ ทั้งสิ้น จำนวน 1,070 คน  สำนักงาน กสทช. จึงเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานงานและสร้างความเข้าใจระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานวิทยุโทรคมนาคม หลักการใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ การแพร่คลื่น เทคนิคการใช้งาน และการจัดการข่ายสื่อสารของหน่วยงานสื่อสารต่างๆ เพื่อให้เชื่อมโยงสัญญาณมายังศูนย์ประสานงาน สำนักงาน กสทช. เป็นศูนย์ประสานงานกลางในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขายากต่อการติดต่อสื่อสารและก่อนนี้ได้เกิดกรณีเหตุไฟไหม้ ศูนย์อพยพแม่สุรินทร์           อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมและฝึกซ้อมโครงการครั้งนี้เป็นจำนวนมากจากเดิมที่วางแผนไว้ประมาน 200 คน มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วมอบรมมากกว่า 1,000 คน เพื่อให้มีการซักซ้อมกระบวนการขั้นตอนในการประสานระหว่างหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและด้านการสื่อสารทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีการฝึกภาคปฏิบัติโดยมีการฝึกซ้อมเสมือนจริงเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและสามารถช่วยเหลือตนเองและคนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ ตลอดจนนำความรู้เทคนิคที่ได้จากการฝึกอบรมในการใช้ข่ายสื่อสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการแจ้งสถานการณ์และประสานงานขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือภัยพิบัติขึ้น   ทำให้โครงการอบรมและฝึกซ้อมในครั้งนี้ บรรลุเกินกว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก

สร้างโดย  -   (1/7/2559 16:49:38)

Download

Page views: 232