สำนักงาน กสทช.:แถลงข่าวผลการดำเนินกิจการ BFKT วันที่ 17 มค 56‏

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมในการประชุม
 ครั้งที่ 3/2556
วันพฤหัสบดีที่ 17  มกราคม พ.ศ. 2556
กรณี: รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)


              ที่ประชุมรับฟังรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่คณะทำงานฯ นำเสนอในวันนี้ พร้อมได้ซักถามในประเด็น ข้อสงสัยต่างๆ แล้ว มีข้อสังเกต ดังนี้

                1. คณะทำงานฯ สรุปในส่วนท้ายของรายงานฯ ว่า ยังไม่อาจเชื่อได้ว่า บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด มีเจตนาใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ยังอาจเชื่อได้ว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด แต่อย่างใด แต่ในส่วนที่มีการวิเคราะห์ คณะทำงานฯ กลับให้ความเห็นว่า บริษัท บีเอฟเคที  (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการควบคุมดูแลโครงข่าย ระบบโครงข่าย สถานีฐาน และระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก รวมทั้งสามารถสร้างโครงข่ายหรือสร้างระบบ transmission เพื่อการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ภายในโครงข่ายหรือระหว่างโครงข่ายได้เอง จึงเป็นผู้ให้บริการในลักษณะของการนำโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz มาให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เช่า และจัดอยู่ในลักษณะของกิจการโทรคมนาคมในลักษณะของการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้  เช่าใช้ ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม คณะทำงานฯ จึงเชื่อว่า บริษัทบีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด มีการกระทำความผิดตามมาตรา 67 (3) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ฐานประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

รายงานของคณะทำงานฯ ทั้งสองส่วนนี้  จึงขัดแย้งกันเอง เพราะหากวิเคราะห์แล้ว เห็นว่า บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว การกระทำของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ย่อมไม่ครบองค์ประกอบของความผิดและไม่เป็นความผิดซึ่งจะต้องมีเหตุผลสนับสนุนอย่างชัดเจนว่า เหตุใดคณะทำงานฯ จึงเชื่อว่า บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด รวมทั้งในชั้นการพิจารณาว่าจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ นั้น กทค. จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเจตนาของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ และมีข้อกฎหมายสนับสนุนความเห็นในเรื่องนี้ของคณะทำงานฯ อย่างไร

              2. คณะทำงานฯ ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่เป็นการดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยแท้ นับแต่อดีตที่มี กทช. จนกระทั่งปัจจุบันเป็น กสทช. ยังไม่มีแนวนโยบายหรือคำตัดสินที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า “การให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมโดยแท้” ถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ แต่ในส่วนของการวิเคราะห์ คณะทำงานฯ กลับสรุปว่าการดำเนินการของบริษัท    บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่คณะทำงานฯ ตรวจสอบจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เช่นนี้ หาก กสทช. โดย กทค. ยังไม่มีแนวนโยบายหรือคำตัดสินที่ชัดเจนว่าจะถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ จะทราบได้อย่างไรว่าการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด  จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม รายงานของคณะทำงานฯ จึงขัดแย้งกันเอง จำเป็นต้องให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ด้วย

              3. ในการพิจารณาว่า คำจำกัดความของ “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องเป็นการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่ “บุคคลอื่นทั่วไป” นั้น คณะทำงานฯ แปลความหมายของคำว่า “บุคคลอื่นทั่วไป” หมายถึง บุคคลใด ๆ ที่มิใช่การให้บริการเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นการแปลความที่แตกต่างจากถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมาย โดยที่คณะทำงานฯ ไม่ได้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า เหตุใดจึงแปลความเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ในเรื่องนี้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 498/2546 ในกรณีคล้ายๆ กัน ให้ความเห็นว่า การให้เช่าใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมแก่ผู้อื่นเพียงรายเดียวเท่านั้น โดยมิได้เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลใดอีก มิใช่เป็นการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ซึ่งเป็นแนวการแปลความหมายของคำว่า “บุคคลอื่นทั่วไป” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ข้ออ้างของ คณะทำงานฯ ที่ว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีนี้ มิอาจนำมาเป็นหลักได้ เนื่องจากเป็นกรณีวินิจฉัยก่อนมีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จึงมีประเด็นที่จะต้องให้เหตุผลสนับสนุนว่า ถูกต้อง หรือไม่ ประเด็นนี้ คณะทำงานฯ จำเป็นต้องให้ความกระจ่างด้วย

              4. เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจและจะเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการต่อไปในเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาวินิจฉัยของ กทค. จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งเหตุผลในการสนับสนุนด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่รายงานของคณะทำงานฯ ยังไม่ปรากฏรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มติ แนวปฏิบัติและการตรวจสอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบจากการวินิจฉัยของ กทค. หากเห็นด้วยกับความเห็นของคณะทำงานฯ ตลอดจนแนวคำพิพากษาศาลฎีกาสนับสนุนข้อกฎหมายที่คณะทำงานฯ อ้างถึง จึงควรที่คณะทำงานฯ จะต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบกิจการพิจารณาใช้ดุลพินิจของ กทค.

             จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้ กทค. มีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลประกอบการใช้ดุลพินิจอย่างละเอียด ครบถ้วน รอบคอบ เป็นธรรมและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีมติให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตในข้อ  1. – 4.  แล้วนำเสนอความเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของ กทค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ กทค. มีมติ ทั้งนี้ ให้เลขาธิการ กสทช. ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย

Download

สร้างโดย  -   (30/3/2559 15:47:20)

Download

Page views: 1116