สำนักงาน กสทช. จับมือ 4 แบงก์ ลงนามบันทึกข้อตกลงการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าและนำออกเครื่องวิทยุคมนาคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ

สำนักงาน กสทช. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตวิทยุคมนาคมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทย (Thailand National Single Window) เพื่อเพิ่มช่องทางการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการนำเข้า/นำออกเครื่องวิทยุคมนาคมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ e-Payment

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้นำเข้า/นำออกอุปกรณ์ และเครื่องวิทยุคมนาคมกว่า 2,000 ราย จะต้องเดินทางมาติดต่อขอใบอนุญาต และชำระค่าธรรมเนียมที่สำนักงาน กสทช. สำนักงานใหญ่เท่านั้น แต่หลังจากนี้ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกับสำนักงาน กสทช. ว่าจะขอใช้ระบบดังกล่าวสามารถขอออกใบอนุญาต และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงาน กสทช. ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการให้กับกรมศุลกากร เพื่อนำไปเสียค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-Payment กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง
                 “โครงการพัฒนาระบบขอใบอนุญาตนำเข้า/นำออกเครื่องวิทยุคมนาคมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในรูปแบบ e-Payment เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตนำเข้า/นำออกเครื่องวิทยุคมนาคมอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขอรับใบอนุญาต รวมถึงการรับชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW และการตรวจปล่อยเพื่อนำขนเครื่องวิทยุคมนาคมที่กรมศุลกากร ตามนโยบายภาครัฐ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล” นายฐากร กล่าว

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 8 ราย อยู่ระหว่างทดสอบใช้บริการขอใบอนุญาตนำเข้า/นำออก และเสียค่าธรรมเนียมผ่านระบบนี้ ได้แก่ บริษัท โนเกีย โซลูชั่นส์ แอนด์ เน็ตเวิร์คส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็ม.อาร์.วี.เทเลคอม จำกัด บริษัท อินโนว่า เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท ไทยเทลคอม จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท กวางอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บริษัท เอ.แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เครื่องวิทยุคมนาคมที่นำเข้าเพื่อสำรองจ่าย เช่น จานสายอากาศและอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม อุปกรณ์ Set-top-Box และเครื่องวิทยุสื่อสาร ส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมที่นำเข้าเพื่อการตรวจสอบมาตรฐาน เช่น เครื่องโทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลูล่าร์ Wireless LANs เครื่องเรดาร์ และเครื่องวิทยุช่วยเดินเรือหรือเดินอากาศ เป็นต้น 
 

สร้างโดย  - เขมอัคคนิจ  ศศิลาวัณย์ (4/4/2561 14:16:27)

Download

Page views: 292