ผลการประชุม กสทช. วันที่ 30 พ.ค. 2561

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.)กล่าวว่า วันนี้ (30 พ.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาวาระเรื่อง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตให้บริการเนื้อหารายการโทรทัศน์บนอากาศยาน โดยที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกปี 2018 บนเครื่องบินได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การให้บริการเนื้อหารายการโทรทัศน์บนอากาศยานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นกิจการที่ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 7 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 จึงไม่จำเป็นต้องมาขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.

จากนั้น ที่ประชุม กสทช. มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการชุมชน จำนวน 12 สถานี ที่ขอรับการสนับสนุน ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนที่มีคุณภาพ พ.ศ. 2560 เป็นจำนวนเงิน 1,024,614 บาท ดังนี้

1.สถานีพระพุทธศาสนาเพื่อชุมชนอำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

2.สถานีศึกษา จ.สุโขทัย วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 90,000 บาท

3.สถานีวิทยุชุมชนตำบลเขาทอง จ.นครสวรรค์ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 81,290 บาท

4.สถานีวิทยุชุมชนอุบลคนเหล่าเสือฮักแพง จ.อุบลราชธานี วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 64,270 บาท

5.สถานีคนเมืองเกษ จ.ร้อยเอ็ด วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

6.สถานี Home Radio จ.สุรินทร์ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 60,503 บาท

7.สถานีคนรักถิ่น จ.ขอนแก่น วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

8.สถานีชาวธาตุพนม จ.นครพนม วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 28,551 บาท

9.สถานีโพธิ์ศรีธาตุ จ.สุรินทร์ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

10.สถานีปัญชญาเรดิโอ จ.พังงา วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

11.สถานีวิทยุชุมชนคนเมืองลี้ จ.ลำพูน วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

12.สถานี True Love Radio จ.กระบี่ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน 100,000 บาท

ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม สนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง บริการชุมชนที่มีคุณภาพ พ.ศ. 2560 จะเป็นการสนับสนุนสถานีวิทยุกระจายเสียงประเภทกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ โดยไม่ใช่เป็นการสนับสนุนรายการใดเป็นการเฉพาะ และมีสัดส่วนการสนับสนุนไม่เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทกิจการบริการชุมชนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงประเภทกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

1.เป็นผู้ประกอบกิจการฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี มีหลักฐานแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การจัดรายการสถานีของสมาชิกในชุมชน โดยสมาชิกในชุมชนจะต้องมีความเป็นเจ้าของสถานีร่วมกัน

2.มีเนื้อหารายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยต้องนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนและผลิตโดยคนในชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด

3.การหารายได้ต้องไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ และระบุถึงที่มาของรายได้ที่ชัดเจน

4.มีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงหรือการครอบงำจากกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มผลประโยชน์โดยมิชอบ กลุ่มอิทธิพลใดๆ พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองทุกระดับ และมีการบริหารจัดการสถานีตาม ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม สนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง บริการชุมชนที่มีคุณภาพ พ.ศ. 2560

5.ไม่เคยถูก กสทช. ออกคำสั่งให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อการกำกับดูแลด้านเนื้อหารายการ หรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง หรือการฝ่าฝืนเงื่อนไขด้านการหารายได้

6.ไม่เคยถูก กสทช. มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองกรณีมีการกระทำความผิดตามกฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข เกี่ยวกับการประกอบกิจการกระจายเสียง

7.ไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงมาแล้วยังไม่ครบ 3 ปี

8.ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกอบกิจการบริการชุมชนโดยเคร่งครัดตลอดระยะเวลาการเป็นผู้ประกอบกิจการ

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน15,732 หมู่บ้าน โดยก่อนหน้านี้ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ ดีอี) ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอี) เป็นผู้ดำเนินการ และ  กระทรวง ดีอี ได้แสดงความประสงค์ที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่ Zone C ที่เหลือจำนวน 15,732 หมู่บ้าน แทนสำนักงาน กสทช. โดยจะมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกันนั้น จนถึงบัดนี้พบว่าระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2561) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานให้ไม่เป็นไปตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2560 อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมUSO ที่ได้จัดเก็บมาจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายแล้วแต่ไม่ได้นำออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคโทรคมนาคมของประเทศไทย ประกอบกับข้อกังวลและห่วงใยของประธาน กสทช. ว่าการรอมติคณะรัฐมนตรีและชะลอแผนการประกวดราคาอาจทำให้การขยายโครงข่ายทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาลไม่แล้วเสร็จตามกำหนดภายในเดือน ธ.ค. 2561 จึงควรขอความชัดเจนจากรัฐบาล ที่ประชุม กสทช. พิจารณาแล้วจึงได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการประกวดราคาโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน ไปพลางก่อน โดยหากคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอี) ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเติมในพื้นที่Zone C แทนสำนักงาน กสทช. สำนักงานฯ จะขอยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวต่อไป พร้อมกับนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ใช้ขอบเขตของงาน (Term of Reference) โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามรูปแบบที่ 3 คือจัดให้มีบริการครบทั้ง 5 บริการ ได้แก่ 1.Wi-Fi สาธารณะประจำหมู่บ้าน 15,732 จุด 2.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ โรงเรียน จำนวน 3,170 แห่ง 3.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จำนวน 91 แห่ง 4.ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) จำนวน 228 แห่ง และ5.ห้องบริการอินเทอร์เน็ตประจำโรงเรียน (USO Wrap) 1,623 ห้อง โดยจะเป็นการให้บริการต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี ภายในวงเงินรวม 18,394.93ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มิ.ย. 2561 เวลา 13.30 น. สำนักงาน กสทช. จะเชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกช่อง เข้ามาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงการสนับสนุนการชำระค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ที่สำนักงาน กสทช. จะช่วยชำระให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าทั้งหมด เป็นเวลา 24 เดือน ให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกราย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2561 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2561 พร้อมทั้งรับหนังสือ ณ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน ซ.8 (ซ.สายลม) กรุงเทพมหานคร โดยในวันนั้นจะมีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลว่า ผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ เงื่อนไขมีอะไรบ้าง จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเมื่อไหร่ หากทำผิดเงื่อนไขจะส่งผลอย่างไรต่อการพักชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

สร้างโดย  - Khemakanit  Sasilawan (30/5/2561 14:16:45)

Download

Page views: 324