4 กทค. ส่งหนังสือถึงป.ป.ช. วอนขอความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา กรณีถูกกล่าวหาฮั้วประมูล 3จี

จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยมีการเสนอข่าวว่า “อนุกรรมการ ปปช. ชี้มูลบอร์ด กทค. จัดประมูล 3 จี ส่อ “ฮั้วราคา”นั้น หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง ทำให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และกรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหาย จึงได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านสื่อมวลชนไปแล้วนั้น
                   ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 กรรมการ กทค. ทั้งสี่ ประกอบด้วย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทช 1003.3/16213 และที่ ทช 1003.3/16214 ถึงประธานอนุกรรมการไต่สวน และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร้องขอความเป็นธรรมและขอโอกาสให้ กรรมการ กทค. ทั้งสี่ ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยตัวเองในฐานะผู้ถูกกล่าวหา 
                   โดยในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า “กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ขอเรียนว่า ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ผ่านมา นั้น กทค. ทั้งสี่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดและไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการตรวจสอบมาโดยตลอด ตั้งแต่ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของผู้ร้องที่เร่งรีบอย่างผิดปกติ โดยเร่งสรุปว่า กทค. ทั้งสี่กระทำผิดและได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่จะเชิญ กทค. มาชี้แจง นอกจากนี้ ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้นของคณะอนุกรรมการฯ การแจ้งข้อกล่าวหาก็มิได้ระบุบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นความผิด แต่ระบุพฤติการณ์กว้างๆ ไม่อาจเข้าใจได้และไม่เปิดโอกาสให้ กทค. ทั้งสี่ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสเข้าชี้แจงและตอบข้อสงสัยของคณะอนุกรรมการฯ อย่างเต็มที่ด้วยตนเอง ขณะที่ทราบว่าได้มีการเรียกพยานของฝ่ายที่ร้องเรียนหลายปากซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่มีความเห็นต่างกับ กทค. รวมทั้งเป็นผู้ร้องเรียนโดยตรงหรือโต้แย้งดุลพินิจของ กทค. โดยตรงต่อสาธารณะมาให้ข้อมูลกล่าวหา กทค. และตอบข้อสงสัยต่อคณะอนุกรรมการ ปปช. ด้วยตนเอง จึงทำให้เห็นว่า กทค. ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และด้านเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ อีกทั้งยังมีประเด็นแห่งคดีที่ กทค. ทั้งสี่ยังมิได้มีการชี้แจงให้ครบถ้วนและครอบคลุม นอกจากนี้ ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานนับตั้งแต่มีการยื่นคำร้อง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความเสียหายของประเทศที่เกิดผลจากผลการประมูล 3 จี นั้น 
ไม่เป็นความจริง โดยเห็นได้ชัดว่าผลการประมูล 3 จี ได้ทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล 
                   กรรมการ กทค. ทั้งสี่ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีเงื่อนงำหรือความผิดปกติ เพราะนอกจากพฤติการณ์ข้างต้นแล้ว ยังปรากฏว่ามีการให้ข่าวผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เฉพาะในด้านลบในช่วงที่ กสทช. โดย กทค. กำลังเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กทค. ผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวและอาจมองว่าเพื่อกดดันให้เกิดสุญญากาศเพื่อไม่ให้มีการประมูลคลื่น 1800 MHz และคลื่นความถี่ ย่าน 900 MHz รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของ กทค. ทั้งสี่ ซึ่งตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม กรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ จึงใคร่ขอความเป็นธรรมในการขออนุญาตเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายประเด็นข้างต้นด้วยตนเอง แม้ กทค. ทั้งสี่เคยไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ แต่เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวในวันที่ กทค. ไปรับทราบข้อกล่าวหา ขณะที่ กทค. ยังไม่ทราบประเด็นข้อกล่าวหาที่ชัดเจนและโดยที่คณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ซักถามและไม่มีการบันทึกคำชี้แจงใดๆ ของ กทค. ทั้งสี่ ทำให้มองว่า กทค. ทั้งสี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าว โดยในชั้นนี้ กรรมการ กทค. ทั้งสี่ จึงขอให้รายละเอียดความไม่เป็นธรรมในแต่ละประเด็น ดังนี้

O กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา โดยมีการเร่งสรุปเรื่องอย่างผิดปกติแล้วยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ก่อนจะให้ กทค. ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ในภายหลัง
                     ขอเรียนว่า การยื่นข้อร้องเรียน กทค. และการพิจารณาเรื่องร้องเรียน จนนำไปสู่การสรุปเรื่องและยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการด้วยความเร่งรีบและไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ กทค. โดยเร่งสรุปว่า กทค. กระทำผิดและได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเชิญ กทค. มาชี้แจง โดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้สรุปผลและยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 แต่ได้มีหนังสือเชิญ กทค. ไปชี้แจงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ดังนั้น ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ส่งไปยังคณะกรรมการ ปปช. ดังกล่าว จึงมีเพียงแต่ข้อเท็จจริงที่มาจากข้อมูลของฝ่ายผู้ที่ร้องเรียนอันเป็นข้อมูลที่หยิบยกมาบางส่วนไม่ครบถ้วนด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งที่ในประเด็นข้อร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายหลายฉบับ ซึ่ง กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและผ่านการพิจารณาไตร่ตรองโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดรอบคอบไม่น้อยกว่า 7 ถึง 8 เดือน แต่คณะกรรมาธิการฯ กลับใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันทำการ ในการรับเรื่อง สรุปผลและส่งคณะกรรมการ ปปช. ทำให้ กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่ง กทค. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ต่อคณะอนุกรรมการ ปปช. ไปด้วย การเร่งสรุปผลดังกล่าวจึงอาจทำให้ถูกมองว่า คณะกรรมาธิการฯ กระทำการที่ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 17 และ ข้อ 19 และไม่เป็นไป
ตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 หรือไม่

O กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ มิได้ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ระบุบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นความผิด แต่ระบุกว้างมาก ทำให้ กทค. ไม่เข้าใจและไม่อาจชี้แจงได้ 
                   ขอเรียนว่า โดยที่คณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งให้ กทค. เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 โดยในวันดังกล่าวคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ไม่ได้มีการซักถามในประเด็นที่กล่าวหาแต่เป็นการให้ กทค. ทั้งสี่ลงนามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้นเอง แม้ กทค. ทั้งสี่จะชี้แจงแต่ก็เป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว โดยคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้ซักถาม และไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกคำชี้แจงของ กทค. ทั้งสี่ไว้แต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นตามข้อกล่าวหาเป็นเรื่องสำคัญ มีรายละเอียดจำนวนมากและ ความซับซ้อนในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่ กทค. กลับไม่มีโอกาสได้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ โดยละเอียดด้วยตนเอง


O ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ตามบันทึกข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการฯ จนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อ กทค. แสดงให้เห็นว่า มีการเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน
                 ขอเรียนว่า เมื่อได้พิจารณาตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ซึ่งได้ระบุข้อเท็จจริงพฤติการณ์ของ กทค. เกี่ยวกับการจัดประมูลคลื่นความถี่ในหลายประเด็นทำให้เห็นว่า มีการเข้าใจข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาที่ว่าการประมูลคลื่นความถี่ของ กทค. มีมูลการกระทำความผิด เช่น กรณีที่ได้ระบุว่า “กทค. ได้แบ่งคลื่นความถี่เป็นจำนวน 9 ชุด ๆ ละ 2x5 MHz ซึ่งแต่ละชุดแม้มีช่วงความถี่ต่างกัน แต่เมื่อนำมาใช้งานก็มีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน” “การที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่สูงสุดได้ไม่เกินสามชุด หากผู้เข้าประมูลแต่ละรายประสงค์จะประมูลสูงสุดทุกรายๆ ละสามชุดเท่ากันก็เท่ากับว่าการประมูลมีจำนวนผู้เข้าประมูลเท่ากับจำนวนของที่ประมูล กล่าวคือ ผู้ประมูลแต่ละรายมีสิทธิได้ของที่ประมูลเท่ากันแม้ไม่ประมูลแข่งขันก็ตาม หรือมีผู้เข้าประมูล 1 รายประมูลของ 1 ชิ้น” “ตามข้อ 10.2.2 ของหลักเกณฑ์การประมูล ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล หรือมีผู้เข้าการประมูลเพียง 1 ราย คณะกรรมการจะยกเลิกการประมูล แต่ กทค. ก็ไม่ได้นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาพิจารณายกเลิกการแข่งขัน ทั้งที่หลายฝ่ายทักท้วงว่าการประมูลไม่มีการแข่งขัน” เป็นต้น ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริงทั้งเป็นความเข้าใจกลไกการประมูลคลื่นความถี่ที่คลาดเคลื่อน โดยมีลักษณะเหมือนนำข้อเท็จจริงบางส่วนมาใช้ปรักปรำ กทค. ทั้งสี่ และเป็นการนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังมากล่าวหาในลักษณะนำเอาผลไปสู่เหตุ มิใช่นำเหตุมาสู่ผล ซึ่งหาก กทค. ทั้งสี่ ได้มีโอกาสอธิบายตอบข้อสงสัยต่างๆ ก็จะทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

O กทค. ได้โต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาของคณะกรรมการ ปปช. ว่าไม่อยู่ภายใต้บังคับ พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เพราะการประมูลคลื่นความถี่แตกต่างจากการประมูลทรัพย์สินทั่วไป
                   ขอเรียนว่า เนื่องจากมูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ มิใช่เป็นกรณีที่ กสทช. โดย กทค. จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการดำเนินการโดยทุจริตแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ผู้ร้องมีความเข้าใจข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ โดยเข้าใจว่าเหมือนเช่นการประมูลทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากการร้องขอและไม่ใช่สัญญาทางปกครองที่เกิดจากการตกลงระหว่างคู่สัญญา และไม่นำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกันและการประมูลทรัพย์สินหรือสิ่งของอาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การจัดซื้อ หรือจัดจ้าง หรือวิธีอื่นใด 
                  หากพิจารณาคำว่า “การเสนอราคา” เมื่อได้พิจารณาหมายเหตุแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้เห็นว่า มีความความมุ่งหมายให้เกิดการจัดหาสินค้าหรือบริการที่จะต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐ และจะต้องนำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกันไม่ว่ารูปแบบใด แม้ตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวจะกำหนดให้การเสนอราคารวมถึงการให้สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิใดๆ ก็ตาม แต่ “การได้รับสิทธิใดๆ” ตามความหมายของคำจำกัดความดังกล่าวจะต้องเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการให้สัมปทาน ทั้งนี้ ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มีความแตกต่างจากการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งระบบการให้สัมปทานโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ต้องเข้าทำสัญญากับเอกชน แม้จะมีการออกเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งออกโดย กสทช. แต่ฝ่ายเดียว ฉะนั้น มูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แม้จะมีการระบุว่าให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาบังคับ ก็มิอาจทำให้สิ่งที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่เป็นความผิดได้

O กรณีข้อกล่าวหาที่ว่า กทค. มีพฤติกรรมสมยอมการเสนอราคา (ฮั้ว) กับผู้ประกอบการในการออกแบบการประมูลจนทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะไม่มีการแข่งขันนั้น ขัดต่อความเป็นจริงอย่างยิ่ง 
                 ขอเรียนว่า กสทช. โดย กทค. ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการออกหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ และเป็นผู้กำกับดูแลให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมนั้น กสทช. โดย กทค. พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้วเห็นว่า การจะดูว่ามีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาแต่เฉพาะในขณะประมูลเพื่อให้ได้ราคาประมูลสูงๆ เท่านั้น แต่ต้องดูทั้งระบบ กล่าวคือ การแข่งขันในการประมูลและการแข่งขันในการประกอบกิจการ ซึ่งการประมูลคือวิธีการจัดสรรคลื่นอย่างหนึ่ง เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิในการใช้คลื่นตลอดช่วงเวลาตามใบอนุญาตและในระหว่างเวลาการอนุญาตนั้น กสทช. ต้องกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตนำคลื่นความถี่ไปใช้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเปิดให้บริการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ซึ่งการใช้ดุลพินิจดังกล่าวของ กทค. สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลและแนวทางที่องค์กรกำกับดูแลใดๆ ในประเทศต่างยึดถือปฏิบัติ โดยการประมูลคลื่นความถี่แตกต่างจากประมูลสิ่งของทั่วไปที่ผู้ชนะการประมูลสิ่งของทั่วๆ ไปได้กรรมสิทธิ์ไปเลย เพราะผู้จัดประมูลโอนกรรมสิทธิ์ในของชิ้นนั้นไปแล้ว และไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังปรากฏว่า ขณะนี้มีการแข่งขันกันอย่างสูงระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ที่ได้รับใบอนุญาต ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบริการที่หลากหลาย ราคาเฉลี่ยที่ถูกลง ฯลฯ ประเทศชาติได้รับประโยชน์เนื่องจากคลื่นความถี่ที่เดิมไม่มีการใช้ถูกนำมาจัดสรรเป็นผลสำเร็จ ประเทศชาติมีรายได้จากค่าประมูล ค่าลงทุนโครงข่ายจำนวนมหาศาล ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ภาษีที่เก็บได้จากธุรกิจที่เติบโตการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ อันขัดอย่างยิ่งต่อข้อกล่าวหาที่อ้างว่า กทค. ออกแบบและจัดประมูลคลื่นความถี่ทำให้ชาติเสียหาย 

O กรณีตามข้อกล่าวหา ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์ได้ว่ามีการฮั้วการประมูลระหว่าง กทค. และผู้ประกอบการจริง จนทำให้ กทค. ไปออกแบบการประมูลเพื่อเอื้อผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ทั้งนี้การออกแบบการประมูลเป็นดุลพินิจที่ กสทช. โดย กทค. ดูข้อมูลจากทุกๆ ที่แล้ว จึงเลือกมาออกแบบการประมูล เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้สามารถจัดประมูลได้เป็นผลสำเร็จ
                    ขอเรียนว่า การที่ กทค. เห็นว่าได้กำหนดหลักเกณฑ์การประมูล การกำหนดราคา รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการประมูลโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมทั้งในขณะประมูลและในการประกอบกิจการ รวมทั้งการสร้างรายได้เข้ารัฐตามมาตรา 45 แห่ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แล้ว แต่มีกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มซึ่งประกอบด้วยบุคคลากรภายในองค์กร กสทช. เองและบุคคลภายนอก มีความเห็นแตกต่างจาก กทค. และ กสทช. เสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักวิชาการ นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่สนับสนุนความเห็นของ กทค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นความแตกต่างในความเห็นเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจโดยมิใช่เรื่องการดำเนินงานของ กสทช. โดย กทค. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมิใช่เป็นเรื่องที่ กทค. ทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากแต่เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมายไม่ถูกใจกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่ง กทค. ทั้งสี่ขอยืนยันว่า ที่ประชุม กทค. ได้ไตร่ตรองความเห็นและข้อเสนอของ ฝ่ายที่เห็นแตกต่างอย่างละเอียดรอบคอบในทุกมิติที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ไม่ได้เลือกที่จะปฏิบัติตามเนื่องจากเห็นว่าจะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้การประมูลไม่ประสบความสำเร็จทั้งยังเป็นความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดราคาตั้งต้นที่ กทค. กำหนดนั้นได้รับการยืนยันทางด้านข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นราคาที่สูงอยู่แล้ว หากไปกำหนดให้สูงขึ้นอีก โดยไม่มีหลักวิชาการรองรับ ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ล้มเหลว ส่งผลให้ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์ ที่ประชุม กทค. จึงใช้ดุลพินิจที่จะไม่เลือกหรือไม่เชื่อตามความเห็นของนักวิชาการรายนี้และกรรมการบางราย แต่เลือกเดินตามแนวทางที่ กทค. ได้ศึกษาและเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ดังนั้น การที่ กทค. ใช้ดุลพินิจเลือกเดินในแนวทางที่ กทค. เห็นว่าเหมาะสมที่สุดในการออกแบบการประมูล โดยใช้แนวทางแตกต่างจากฝ่ายที่เห็นแตกต่าง จะถือว่า กทค. ฮั้วหรือทุจริตออกแบบการประมูลอันมีโทษทางอาญาร้ายแรงได้อย่างไร

O การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล การกำหนดราคา รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการประมูลเป็นดุลพินิจขององค์กรชำนาญพิเศษตามกฎหมาย
                      ขอเรียนว่า เนื่องจากในประเด็นข้อร้องเรียนนั้น มีความเกี่ยวข้องทั้งในด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านกฎหมายหลายฉบับ อีกทั้งการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติจำนวนมหาศาล ซึ่งการจะพิจารณาว่าการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรคมนาคมจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามหลักการของรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านและถือเป็นดุลพินิจโดยแท้ของ กสทช. ตามหลักการของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในแต่ละด้าน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพิจารณาใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสมในการพิจารณาว่า จะออกใบอนุญาตและจะจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม 
                     โดย กทค. ในฐานะองค์กรชำนาญพิเศษย่อมมีสิทธิที่จะคิดและมีความเห็นที่แตกต่างรวมทั้งเลือกแนวทางที่เห็นว่าดีที่สุดในการดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ กสทช. และ กทค. ดำเนินการ โดยให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา ตลอดจนรายละเอียดที่เห็นว่าเหมาะสมในการออกแบบกติกาในการประมูลคลื่นความถี่ ฉะนั้น การที่จะพิจารณาสุดท้ายในการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล การกำหนดราคา รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้มีความเหมาะสมและทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ย่อมอยู่ภายใต้ดุลพินิจของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์การชำนาญพิเศษและเป็นเรื่องที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อาจนำเอามาตรฐานในกรณีประมูลสิ่งของแบบ e-auction มาเปรียบเทียบหรือนำมาใช้ในเรื่องนี้ได้ เพราะการประมูลคลื่นความถี่และประมูลสิ่งของมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กฎหมายจึงไม่ได้บัญญัติให้ กสทช. เอาระเบียบเรื่อง e-auction ในกรณีจัดซื้อจัดจ้างหรือประมูลทั่วๆ ไปมาใช้ แต่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนให้ กสทช. ออกแบบหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่เอง ดังนั้น ปัญหาของเรื่องนี้ คือใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า กรณีมีความแตกต่างในความเห็นเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่จะเชื่อใคร จะพิจารณาอย่างไรว่ามีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ตรวจสอบอย่างไร ในช่วงใด ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยสุดท้ายระหว่าง กสทช. โดย กทค. , กรรมการ กทค. คนใดคนหนึ่ง นักวิชาการ หรือองค์กรตรวจสอบต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากฎหมายกำหนดให้องค์กรชำนาญพิเศษ คือ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ออกแบบการประมูลและเป็นองค์กรชำนาญพิเศษเฉพาะด้านเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้มีโอกาสใช้ดุลพินิจในกรอบที่เห็นว่าเหมาะสมตามประสบการณ์ ความรู้ และความชำนาญพิเศษดังกล่าว

O ผลการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีดังกล่าว เกิดผลในทางตรงกันข้ามกับที่มีการกล่าวหาว่าประเทศชาติได้รับความเสียหาย 
                     ขอเรียนว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ ได้รับการยอมรับจากองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติด้านโทรคมนาคม คือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ว่าประสบความสำเร็จและผลการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว มีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลและบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุของ กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องราคาที่ได้จากการประมูล คลื่นความถี่ ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz ตามมาตรฐานระหว่างประเทศพบว่า เป็นราคาที่เหมาะสมหรือค่อนข้างจะเป็นราคาที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังได้สร้างมาตรฐานการประมูลคลื่นความถี่ในระดับสากล นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นตรงกันว่าผลจากการที่ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล ช่วยผลักดันตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งมีอานิสงส์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาช่องทางบริการธุรกิจใหม่ๆ บนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 3 จี ในหลายรูปแบบ รวมถึงเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจการสร้างโครงข่าย ซึ่งขณะนี้ก็ปรากฏชัดว่าผลการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ด้วยประเด็นปัญหาดังที่ได้เรียนในข้างต้น จึงเห็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz มีความซับซ้อนในด้านต่างๆ เกี่ยวข้องรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งนอกจากคำชี้แจง ที่ได้เรียนไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอโอกาสให้ กรรมการ กทค. ทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และใช้ดุลพินิจตามความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านตามที่กฎหมายกำหนด ได้เข้าชี้แจงและนำเอกสารหลักฐานเข้าแสดงในรายละเอียดข้างต้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อยืนยันว่า การดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ได้ดำเนินการในทุกขั้นตอนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกร้องทั้งสี่ในกระบวนการไต่สวนและกระบวนการพิจารณาในเรื่องนี้
                 “ด้วยเหตุผลข้างต้น ขอย้ำว่า กสทช. โดย กทค. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ กทค. เพียงคิดต่างและใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมายตามความชำนาญพิเศษ ที่เห็นว่าจะทำให้สามารถจัดสรรคลื่น 3 จี ได้สำเร็จ เกิดประสิทธิภาพ และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดย กทค. ได้พิจารณาเสียงเรียกร้องส่วนน้อยที่ต้องการให้กำหนดราคาประมูลสูงๆ อย่างรอบคอบแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง ไม่มีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ รวมทั้งยังมาจากกลุ่มเดียวที่เคยให้ข้อแนะนำแก่ กทช. แต่ก็ปรากฎว่าการจัดประมูล 3 จี ครั้งนั้นล่มไป กทค. จึงเลือกตามแนวทางที่ดำเนินไปจนทำให้การจัดประมูล 3 จี ของ กทค. ประสบผลสำเร็จ ที่ผ่านมา กทค. ทั้งสี่เป็นฝ่ายถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่กระบวนการสอบสวนที่เร่งรีบอย่างผิดปกติจนนำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อปปช.และแม้ในกระบวนการพิจารณาในชั้นของคณะอนุกรรมการปปช.เอง การแจ้งข้อกล่าวหาก็ระบุกว้างๆ และไม่เปิดโอกาสให้ กทค.ทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสเข้าชี้แจงและตอบข้อสงสัยของคณะอนุกรรมการฯอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง ขณะที่ทราบว่าพยานของฝ่ายที่กล่าวหาหลายปากมีโอกาสมาให้ข้อมูลกล่าวหา กทค.ทั้งสี่ และตอบข้อสงสัยต่อคณะอนุกรรมการปปช.ด้วยตนเอง จึงทำให้ไม่มั่นใจในกระบวนการพิจารณาและเกรงว่าจะมีเฉพาะข้อมูลด้านเดียวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดปปช.ชุดใหญ่ จึงขอเรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นธรรมจากทุกฝ่ายด้วย” พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ดร.สุทธิพล รศ.ประเสริฐ และพล.อ.สุกิจ ได้แสดงความรู้สึกเหมือนกันในตอนท้าย

Download

  • 4-กทค-ส่งหนังสือถึงปปช.docx

สร้างโดย  -   (14/3/2559 15:34:34)

Download

Page views: 2461