สำนักงาน กสทช. ให้การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย

สำนักงาน กสทช. ให้การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย


วันนี้ (30 ก.ย. 2563) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.)  โดยพลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เป็นประธานในพิธีมอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งการมอบหลักฐานการอนุญาตในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยระบบการอนุญาต (License) จากเดิมที่เป็นระบบสัมปทาน ซึ่งการอนุญาตสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
19 กุมภาพันธ์ 2563
การมอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในครั้งนี้ แบ่งเป็นหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ จำนวน 1 หน่วยงาน (1 ข่ายดาวเทียม) และหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น จำนวน 5 หน่วยงาน (6 ข่ายงานดาวเทียม) ทั้งนี้ ข่ายงานดาวเทียมที่ได้รับอนุญาตสิทธิในครั้งนี้เป็นข่ายดาวเทียมประเภทวงโคจรดาวเทียมไม่ประจำที่ (NGSO) ซึ่ง 5 หน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตมีดังนี้
1. กองทัพอากาศ โดยกรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม NAPA-2 (NGSO) และข่ายงานดาวเทียม RTAFSAT (NGSO)
2. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS2 (NGSO) และสิทธิขั้นสมบูรณ์ สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS (NGSO)
3. สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่าวงานดาวเทียม JAISAT-1 (NGSO)
4. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม BCCSAT-1 (NGSO)
5. กองทัพอากาศ โดยโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THAIIOT (NGSO)
ทั้งนี้ ระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมดังกล่าวข้างต้นจะแบ่งตามประเภทสิทธิที่ได้รับการอนุญาต กล่าวคือ สิทธิขั้นสมบรูณ์จะมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี นับแต่วันที่ได้รับสิทธิ สำหรับสิทธิขั้นต้นจะมีระยะเวลาการอนุญาตนับแต่วันที่ได้รับสิทธิไปจนถึงวันที่จะได้รับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (30/9/2563 10:44:10)

Download

Page views: 543