รองเลขาธิการ กสทช. เผยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ครั้งแรกของประเทศไทย
รองเลขาธิการ กสทช. เผยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ครั้งแรกของประเทศไทย
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (2 ธันวาคม 2563) สำนักงาน กสทช. ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ คือ การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมหรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่ ทั้งในขั้นสมบูรณ์และขั้นต้น มาจัดเป็นชุด (Package) ตามวงโคจร (Slot) ทั้งหมด 4 ชุด พร้อมกำหนดราคาขั้นต่ำ เพื่อจะนำสิทธิดังกล่าวมาอนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ได้แก่
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 728.199 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 748.565 ล้านบาท
ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท
ทั้งนี้การประเมินราคาขั้นต่ำนั้น คำนวณตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในการให้ได้มาซึ่งเอกสารข่ายงานดาวเทียมในแต่ละข่ายงาน เช่น มูลค่าเริ่มต้นในการขอข่ายงาน หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับ ITU เป็นต้น รวมกับมูลค่าโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจ ทำให้ข่ายงานที่อยู่ในขั้นสมบูรณ์มีมูลค่ามากกว่าขั้นต้น เนื่องจากสามารถสร้างและส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเพื่อประกอบการได้ทันที อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องชำระค่าธรรมเนียมตามราคาที่เสนอสูงสุดแล้ว ยังต้องชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมรายปีในอัตรา 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ในอัตราไม่เกิน 1.5 % และ ค่าธรรมเนียม USO ในอัตรา 2.5 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่เกี่ยวกับการประสานงานคลื่นความถี่ และตามที่ ITU เรียกเก็บอีกด้วย
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกนั้นแม้ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้วิธีการประมูล อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างสมดุลในเรื่องการรักษาสิทธิและประโยชน์ที่ประเทศชาติ และประชาชนจะได้รับ จึงได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ โดยมีเกณฑ์ เช่น ประสบการณ์การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม แผนการใช้งานข่ายงานดาวเทียม ข้อเสนอช่องสัญญาณสำหรับบริการสาธารณะ หรือข้อเสนอการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องมีการวางหลักประกัน 10% ของราคาขั้นต่ำในแต่ละชุด โดยผู้เข้าร่วมการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนในแต่ละเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และได้คะแนนประเมินรวมเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงจะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาข้อเสนอด้านราคา โดยเลือกผู้ชนะจากการยื่นข้อเสนอด้านราคาสูงสุด
โดยผู้ชนะในแต่ละชุดจะได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีอายุการอนุญาต 20 ปี โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น ต้องมีดาวเทียมใช้งานจริงกับข่ายงานขั้นสมบูรณ์เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และจะได้รับการคุ้มครองสิทธิโดย กสทช.จะไม่อนุญาตให้มีการมาขอส่งเอกสารข่ายงานใหม่สำหรับวงโคจรนั้นอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและประกันการใช้งานต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดให้มีช่องสัญญาณเพื่อบริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐไม่ต่ำกว่า 10% ของความจุของดาวเทียม รวมทั้งต้องรับผิดชอบแทนภาครัฐกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็นต้น
สำหรับข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้นโดยสรุปนั้น ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องราคาขั้นต่ำและค่าธรรมเนียมที่เกรงว่าจะเป็นภาระทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับดาวเทียมต่างชาติได้ เนื่องจากการเปลี่ยนมาสู่ระบบการอนุญาตครั้งนี้ไม่ใช่ในลักษณะให้สิทธิแบบระบบสัมปทานและในอนาคตยังมีการเข้ามาแข่งขันจากดาวเทียมต่างชาติที่ กสทช. กำหนดค่าธรรมเนียมไว้เพียง 3.2% เท่านั้น ในขณะเดียวกันกับภาครัฐที่กังวลกับรายได้ที่จะได้ว่าน้อยเกินไปหรือไม่จากราคาขั้นต่ำทั้ง 4 ชุดรวมกัน 2,207.939 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมที่รัฐได้รับประกันรายได้ขั้นต่ำเพียง 1,415 ล้านบาท กับระยะเวลาผูกขาด 30 ปี รวมทั้งในประเด็นข้อจำกัดด้านเวลาของบางข่ายงานที่ต้องรีบดำเนินการสร้างและส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรทำให้ต้องมั่นใจได้ว่าผู้ชนะและได้รับการอนุญาตต้องมีความพร้อมจริงในการดำเนินการไม่มีการทิ้งงานเพราะจะส่งผลเสียหายต่อสิทธิวงโคจรของประเทศไทยจึงควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า
“กิจการดาวเทียมไทยจะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการแก้ไขปัญหาการเกิดสุญญากาศหลังดาวเทียมไทยคม 8 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ที่ไม่สามารถนำดาวเทียมไทยขึ้นสู่วงโคจรได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.พร้อมที่จะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาและปรับปรุงให้มีความเหมาะสม เนื่องจากต้องยอมรับว่า กสทช.แม้มีประสบการณ์ในการประมูลคลื่นความถี่ แต่คลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้นมีความแตกต่าง ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตหรือเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย และส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ที่มีความก้าวกระโดดของดาวเทียมทั้งในส่วนของ Broadcast และ Broadband ต่อไป”
///////////////////////////////////////////////////////////////////////
สร้างโดย - ปฐมพงศ์ ศรีแสงจันทร์ (4/12/2563 9:34:49)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 362