สำนักงาน กสทช. หนุนสร้างระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ประชาชนทั่วประเทศ คาดกลางปี 2568 พร้อมใช้งาน

          ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พร้อมด้วยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยและนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) พร้อมสาธิตการใช้งานระบบเตือนภัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารทรู ทาวเวอร์

             ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนปีนี้ให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้เกิดระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่เชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้มีการใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ มีความเป็นมาตรฐานสากล และดำเนินการได้รวดเร็ว ผ่านการรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินบัญชี 3 (USO โทรคมนาคม) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบ

           ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมเรื่องนี้ร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดจะมีการประชุมเชิงนโยบายร่วมกัน รวมถึงประเด็นด้านเทคนิค ก่อนแจ้งสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดว่าทุกหน่วยงานจะมีความพร้อมเพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในช่วงกลางปี 2568

            “ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดระดับประเทศ เช่น การกราดยิงในห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือเตือนภัยให้แก่ประชาชนซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นบริการทางสังคม หรือ Public Service ที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน ลดการบาดเจ็บ และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะไม่เพียงแต่ปกป้องชีวิต ยังรวมถึงการปกป้องโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลที่เกิดจากความเสียหายที่จะตามมา ซึ่งเราในฐานะหน่วยงานของรัฐก็ต้องร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางสังคมเหล่านี้ร่วมกัน” ประธาน กสทช. กล่าว

           ประธาน กสทช. กล่าวว่า การทดสอบระบบ Cell Broadcast ครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีกระบวนการหลังบ้านที่พร้อมดำเนินการ โดยรูปแบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจะเป็นรูปแบบการแสดงข้อความ หรือ Pop Up บนหน้าจอโทรศัพท์ พร้อมสัญญาณเสียง เป็นการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายพร้อมกันแบบรอบเดียว ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับตามรูปแบบการใช้งานและความร่วมมือภาครัฐ ประกอบด้วย (1) การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่ที่มีเสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที (2) การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

              (3) การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย (4) ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น และ (5) การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (3/7/2567 16:08:01)

Download

Page views: 60