กทค. มีมติหยุดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz วันที่สองของการประมูลในเวลา 17.30 น. หลังโอเปอเรเตอร์ทำหนังสือถึง กสทช. ขอพักหลังจากอยู่ในห้องประมูลเกิน 24 ชั่วโมง เริ่มเคาะราคาใหม่ 13 พ.ย. 58 ในเวลา 10.00 น.
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า กทค. ได้รับหนังสือจากโอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 3 รายว่าต้องการขอพักการประมูล เนื่องจากร่างกายอ่อนล้า เป็นผลจากการอยู่ในห้องประมูลต่อเนื่องเกินกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้ กทค. ต้องมีการประชุมนัดพิเศษ โดยมีมติให้หยุดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สำหรับวันนี้
(12 พ.ย. 2558) ในเวลา 17.30 น. โดยจะกลับเข้ามาประมูลฯ ใหม่ในวันที่ 13 พ.ย. 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.
ขณะเดียวกัน กทค. ได้มีมติให้ใช้สถานที่ภายในสำนักงาน กสทช. เป็นสถานที่สำหรับพักค้างคืนของผู้เข้าร่วมประมูล โดยจะมีการแยกห้องพักสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละบริษัท ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. คอยดูแลไม่ให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล
สำหรับการติดต่อกับครอบครัวของผู้เข้าร่วมประมูลนั้น จะต้องแจ้งความจำนงผ่านเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ว่าต้องการสิ่งใดบ้าง เช่น เสื้อผ้า และยารักษาโรค โดยจะไม่ให้มีการติดต่อกันโดยตรง
“การประมูลในครั้งนี้ กสทช. ขอยืนยันว่า เราทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อนำเอาคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงประชาชนและรัฐเป็นที่ตั้ง” พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำหรับการเตรียมแผนรองรับการประมูลในวันพรุ่งนี้หากการประมูลมีความยืดเยื้อก็อาจต้องมีการต่อระยะเวลาการประมูลออกไปอีก 1 วัน โดยในเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการประมูลในวันพรุ่งนี้ไว้ที่เวลา 18.00 น.
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีผู้เป็นห่วงเรื่องราคาการประมูลที่อาจส่งผลต่ออัตราค่าบริการในอนาคตนั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า ได้มีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขของการประมูลตั้งแต่ต้นว่าอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราค่าบริการประเภทเสียงปัจจุบันอยู่ที่ 69-72 สตางค์ต่อนาที และอัตราค่าบริการประเภทดาต้าอยู่ที่
26 สตางค์ต่อเมกกะไบต์ ซึ่งเท่ากับว่าอัตราค่าบริการ 4G ที่จะเปิดให้บริการในอนาคตจะต้องถูกกว่านี้
นอกจากนั้นในเงื่อนไขของการประมูลในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค ยังได้ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อยคือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน
10,000 บาท โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องส่งแผนต่อ กทค. ก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนภายใน
1 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการ
สร้างโดย - (30/1/2559 13:34:31)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 28