กสทช. ผ่านโครงการ USO NET ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ยืนยันค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการคืนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่ม และมีมติกำหนด Network Code ให้กับ อสมท

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (20 ก.ย. 2560) ที่ประชุม กสทช. อนุมัติผ่าน โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการจ้างบริการโครงการดังกล่าว จำนวน 8 สัญญา ภายใต้กรอบวงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท โดยร่างสัญญาดังกล่าวได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ซึ่งได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่า ร่างสัญญาดังกล่าวตรวจผ่านเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดส่งกลับมายังสำนักงาน กสทช. โดยที่ประชุม กสทช. ย้ำเรื่องอัตราค่าบริการเมื่อเปิดใช้บริการต้องเป็นไปตามที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน คือ 30 Mbps ราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน ทั้งนี้คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ก.ย. 2560 เปิดให้บริการได้ตามกำหนด 15% ในเดือน ธ.ค. 2560 เปิด 60% ในเดือน เม.ย. 2561 และครบ 100% ในเดือน ส.ค. 2561
    จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการคืนและการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เต็มกลุ่มกรณีเป็นกลุ่มเลขหมายที่มีผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถขอคืนเลขหมายโทรศัพท์แบบไม่เต็มกลุ่มได้ ทั้งนี้ผู้ขอคืนกลุ่มเลขหมายดังกล่าวจะไม่สามารถขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน   นับจากวันที่ กสทช. มีมติรับคืนกลุ่มเลขหมายดังกล่าว
และ ที่ประชุม กสทช. มีมติกำหนดเลขหมายรหัสโครงข่าย (Network Code) ให้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งได้กำหนดเงื่อนไขการใช้งานเลขหมายรหัสโครงข่าย ดังนี้
    1.ให้ใช้สำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
     2.ให้ใช้สำหรับคลื่นความถี่ตามที่ กสทช. ให้ความเห็นชอบในการใช้งานภายใต้สิทธิ์ที่มีอยู่เดิมโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และจะต้องใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวแทนไม่ได้
     นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด หรือ ช่อง อมรินทร์ ทีวี เอชดี ยุติการโฆษณาสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งให้ยุติการออกอากาศรายการในลักษณะที่จัดให้มีข้อความหรือข้อมูล ที่มีขนาดพื้นที่รวมกันเกิน 1 ใน 8 ของขนาดพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์ อันเป็นการรบกวนการรับชมรายการของผู้ชมโดยไม่มีเหตุผลอันควรทันที เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า การออกอากาศรายการและการโฆษณาของรายการ "ทุบโต๊ะข่าว" ทางช่องอมรินทร์ทีวีว่ามีการโฆษณาสินค้าหรือบริการเกินกว่าชั่วโมงละ 12.30 นาที ในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 และวันที่ 20 สิงหาคม 2560 โดยวันที่ 16 ส.ค. 2560 ช่วงเวลา 21.00-22.00 น. มีการโฆษณารวม 18.20 นาที และวันที่ 20 ส.ค. 2560 ช่วงเวลา 21.00-22.00 น. มีการโฆษณารวม 17.39 นาที ซึ่งเป็นการโฆษณาเกินกว่า 12.30 นาที ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการออกอากาศรายการในลักษณะที่จัดให้มีข้อความหรือข้อมูลที่มีขนาดพื้นที่รวมกันเกิน 1 ใน 8 ของขนาดพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์ด้วย  ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ยังฝ่าฝืน ให้ปรับทางปกครองเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายที่ช่อง อมรินทร์ ทีวี เอชดี ออกอากาศผ่านโครงข่ายดังกล่าวเพื่อทราบ พร้อมกำหนดให้มีหน้าที่ติดตาม กำกับดูแล ไม่ให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายมีการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
     พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติปรับทางปกครองต่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด หรือ ช่อง GMM25 เป็นจำนวน 50,000 บาท เนื่องจากรายการ “แฉ” ที่ออกอากาศทางช่อง GMM25 ช่วงที่มีการสัมภาษณ์ลีน่าจัง มีการใช้คำพูดหยาบคาย ล่อแหลม ส่อไปในเรื่องทางเพศ อันเป็นเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
     รวมถึงได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรไปยัง บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด หรือ ช่อง 8 ให้ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหารายการให้มีความเหมาะสม ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 มีการออกอากาศ รายการ "ปากโป้ง" ตอนอาถรรพ์ทางสามแพร่ง! และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 นำเสนอตอนขอเลขเด็ดเจ้าแม่ตะเคียน ทางช่อง 8 ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และอาจกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติยกเลิกการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของผู้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ จำนวน 19 สถานี เนื่องจากผู้ขอรับใบอนุญาตมีหนังสือขอยกเลิกการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ขาดความพร้อมในการดำเนินกิจการสถานี มีปัญหาในการบริหารบุคลากร มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่สามารถขอใบอนุญาตตั้งสถานีตามพ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 รวมถึงหมดความประสงค์ที่จะประกอบกิจการแล้ว

Download

  • Press-Release-200960-ผลการประชุม-กสทช-วันที่-20ก-ย-2560-rev-4.doc

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (20/9/2560 15:41:51)

Download

Page views: 5622