กสทช. อนุมัติเงินสนับสนุนการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียมเพิ่มในระบบ HD พร้อมมีมติเห็นชอบกับสำนักงาน กสทช. ในหนังสือชี้แจง สตง. เรื่อง USO NET และรอความเห็นตอบกลับจาก สตง. ก่อนที่ให้ความเห็นชอบลงนามในสัญญาจ้างต่อไป

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (23 ส.ค. 2560) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติอนุมัติวงเงินในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจากเดิม 366,912,000 บาท ต่อปี เป็น 616,464,000 บาท ต่อปี โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)  ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 76/2559 โดยการอนุมัติครั้งนี้เป็นการอนุมัติเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ประเภทความคมชัดสูง (HD) จำนวนทั้งสิ้น 10 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5, ช่อง NBT, ช่อง TPBS, ช่อง MCOT HD, ช่อง ONE HD, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่อง 3HD, ช่อง AMARIN TV, ช่อง 7HD และช่อง PPTV ซึ่งเดิมได้รับการสนับสนุนค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในประเภทความคมชัดปกติเท่านั้น การอนุมัติครั้งนี้เป็นการอนุมัติให้ตามสิทธิที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลประเภทความคมชัดสูง (HD) จะได้รับ โดยมีระยะเวลาในการได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. 3 ปี เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกช่อง

     จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบตามความเห็นที่สำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่อง โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายขอบ โดยไม่มีประเด็นใดเพิ่มเติม เนื่องจากสำนักงานฯ ได้ชี้แจงครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ซึ่งมติที่ประชุม กสทช. ในขณะนี้รอเฉพาะความคิดเห็นของ สตง. ที่จะตอบกลับมา เพื่อเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาของ กสทช. ในการที่จะพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการที่จะเดินหน้าโครงการเน็ตประชารัฐ อนึ่ง ตามกรอบเวลาสำนักงาน กสทช. จะมีการลงนามในสัญญาภายใต้กรอบระยะเวลาในวันที่ 31 ส.ค. 2560 โดยจะมีพื้นที่ที่เปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2560 ไม่น้อยกว่า 15% เดือน มี.ค. 2561 เปิดให้บริการ 60% และเดือน ก.ค. 2561 เปิดให้บริการครบทั้ง 100% โดยได้กำหนดอัตราค่าบริการไว้แล้วว่าผู้ให้บริการจะต้องหักต้นทุนในส่วนที่รัฐได้ไปลงทุน และคิดอัตราค่าบริการได้ในส่วนที่ตนเองเป็นผู้ลงทุนเท่านั้น โดยอัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยประกาศไว้ สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็ว 30/10 Mbps ต่อเดือนต่อครัวเรือน ต้องไม่เกิน 200 บาท นอกจากนั้นยังมีแพ็คเกจพิเศษสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีความต้องการความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าที่กำหนด เช่น แพ็คเกจความเร็ว 10 Mbps ราคาประมาณ 100 บาท/เดือน แพ็คเกจความเร็ว 15 Mbps ราคาประมาณ 150บาท/เดือน

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (23/8/2560 14:37:45)

Download

Page views: 555