เปิดร่างพ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ให้ กสทช. ดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของ พ.ร.บ. ได้ผ่านหลักการวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างในรายมาตรา ซึ่งเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน คือภายในวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปแล้ว 2 ครั้ง โดยเนื้อหาที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และมีผลต่อ กสทช. โดยตรงคือ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
นอกจากนี้ยังมีการยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำหนดให้มีการนำเงินที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. 2 ส่วน คือ 1. เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ให้ กสทช. นำส่งรายได้เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุน DE จำนวน 25% ส่วนที่เหลือให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน จากเดิมเงินส่วนนี้จะเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน 100% และ 2. รายได้ประจำของสำนักงาน กสทช. ที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และผลประโยชน์อื่น ๆ จากเดิมเข้าเป็นรายได้ประจำของสำนักงาน กสทช. 100% ก็ต้องนำส่งเข้ากองทุน DE จำนวน 25% ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช.
พล.อ.ต.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนอำนาจของ กสทช. นั้น ยังมีสาระสำคัญ เช่น จะมีการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุญาตแทน กสทช. เฉพาะการอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคม และ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากลับมาจัดสรรได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็ต้องมีการกำหนดวิธีทดแทนชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ต่างจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้กำหนดเรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่ ก่อนจะหมดอายุสัญญาสัมปทานดังกล่าว
ขณะเดียวกันการดำเนินงานของ กสทช. ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายใหม่จะต้องสอดคล้องกับนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม กสทช. ยังคงมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
พล.อ.ต.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับที่มาของ กสทช. ชุดใหม่จะลดเหลือ 7 คน ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้แก่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และคุ้มครองผู้บริโภค โดยคุณสมบัติของ กสทช. ก็เพิ่มขึ้น เช่น ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป ตำแหน่งทางวิชาการต้องสูงกว่ารองศาสตราจารย์ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลอากาศโท พลเรือโท หรือพลตำรวจโท ขึ้นไปหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สร้างโดย - มหิตถีห์ จักราบาตร (4/10/2559 12:53:35)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 2178