เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงประเด็นรายได้นำส่งรัฐจากการดำเนินการตาม มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการมือถือคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดอายุสัมปทาน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า มาตรการเยียวยาตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยในการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) กับบริษัท ทูรมูฟ จำกัด (TrueMove) และสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดอายุระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) ประกาศเยียวยาฉบับนี้จะให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการกว่า 18 ล้านเลขหมาย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ให้สามารถยังคงใช้บริการได้ต่อเนื่องไปอีกไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอกับคนที่ยังอยากจะใช้เลขหมายเดิมต่อไปจะตัดสินใจโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้ตามความต้องการ

            นายฐากร กล่าวว่า ในส่วนของเงินรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศฯ ตามที่มีสื่อมวลชนบางฉบับเสนอข่าวว่าจะอาจจะไม่มีรายได้นำส่งรัฐ นั้น สำนักงาน กสทช. ข้อให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันว่า รายได้ทั้งหมดจากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช.ฯ นั้น ผู้ให้บริการเป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนรัฐเท่านั้น รายได้ทั้งหมดจึงต้องตกเป็นรายได้ของแผ่นดิน สำหรับต้นทุนที่ผู้ให้บริการจะสามารถนำหักจากรายได้มีเฉพาะต้นทุนค่าเช่าโครงข่าย และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการซึ่งรวมถึงค่าเลขหมาย โดยกรอบแนวทางในการคำนวณต้นทุนจะต้องอิงอยู่บนหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ

            ประการแรก การคำนวณต้นทุนจะต้องอิงข้อมูลต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการขั้นสูงนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555

            ประการที่ 2 การคำนวณต้นทุนจะต้องอิงจากเงินรายได้ที่ผู้รับสัมปทานนำส่งให้แก่ผู้ให้สัมปทาน

ดังนั้น หากพิจารณาตามกรอบแนวทางในการคำนวณต้นทุนข้างต้น เมื่อจำนวนผู้ใช้บริการลดลง ต้นทุนค่าบริหารจัดการก็จะต้องลดลงด้วย

            เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะเสนอกรอบแนวทางในการคำนวณต้นทุนข้างต้นให้คณะทำงานตรวจสอบการนำรายได้ส่งรัฐทั้ง 5 ท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการให้บริการที่ผู้ประกอบการที่ให้บริการในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศ กสทช. ส่งมาด้วย

            “อยากให้ทุกคนเข้าใจความจำเป็นของสถานการณ์นี้ว่า กรณีนี้เป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานครั้งแรกของประเทศไทย กฎหมายบัญญัติเพียงให้คลื่นความถี่กลับมาเป็นของสาธารณะ และให้ กสทช. นำไปจัดสรรใหม่ด้วยวิธีการประมูล แต่กฎหมายไม่ได้พูดถึงการดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างอยู่ในระบบว่าจะทำอย่างไร จึงจำเป็นได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานซึ่งมีจำนวนสูงถึง 18 ล้านเลขหมายเป็นสำคัญ”

 
 -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (18/3/2559 14:40:33)

Download

Page views: 90