ครม.เห็นชอบ ม.3 และม.ปลาย ต้องผ่านการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ก่อนเรียนจบ


    ครม.เห็นชอบให้นักเรียน ม.3 และม.ปลาย ทุกคน ต้องผ่านการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ก่อนเรียนจบ เพื่อเร่งแก้ปัญหาผลิตกำลังคนไม่ตรงตลาดแรงงาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการทำงานต่ำระดับ พร้อมกำหนดเป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานประจำปีของสถานศึกษา เน้นหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกันทำงานแบบเครือข่าย ก.แรงงานพร้อมสนับสนุนแบบทดสอบและการประมวลผลในระบบออนไลน์  (Online) รองรับได้กว่า 10 ล้านคน

    นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดให้มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ร่วมมือกันแก้ปัญหาผลิตกำลังคนไม่ตรงตลาดแรงงาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการทำงานต่ำระดับ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของตัวแรงงานและขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขัน     โดยให้ดำเนินการให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 ม.5 และม.6) ทุกคนต้องได้รับการแนะแนวการศึกษาและอาชีพก่อนสำเร็จการศึกษาตามกระบวนการแนะแนวครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยกระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนแบบทดสอบศักยภาพต่าง ๆ และการประมวลการทดสอบในระบบออนไลน์  (Online)  แก่นักเรียนและสนับสนุนข้อมูลอาชีพและข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของตลาดแรงงานแก่เครือข่ายครูแนะแนวของสถานศึกษา รวมถึงได้กำหนดให้การแนะแนวการศึกษาและอาชีพแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานประจำปีของสถานศึกษาด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันและเป็นการทำงานในลักษณะแบบเครือข่ายจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยของกระทรวงแรงงานพบว่า     นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาหรือสายสามัญศึกษา กว่าร้อยละ 50 ไม่ได้ผ่านกระบวนการแนะแนวการศึกษาและอาชีพอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถใน       การตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะศึกษาต่ออย่างมาก การที่นักเรียนไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมมาก่อน ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงในการตัดสินใจเพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล นอกจากนี้ ผลการวิจัย    ยังพบอีกว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31 ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายในชีวิต และมีจำนวนถึงร้อยละ 36 ที่มีเป้าหมายที่จะรับราชการหรือทำงานในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางของตลาดแรงงาน เนื่องจากในแต่ละปีมีการเปิดรับสมัครงานในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกมาแต่ละปี
ดังนั้น หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ยังดำรงอยู่ต่อไป ก็จะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติในระยะยาว จึงต้องมีการปรับปรุงกระบวนการแนะแนวการศึกษาและอาชีพให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างทั่วถึง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้พัฒนาแบบทดสอบความถนัดทางอาชีพเพื่อให้บริการทางออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน และได้เชื่อมโยงเว็บไซด์เกี่ยวกับแบบทดสอบระดับสติปัญญา (IQ) และแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการด้วยแล้ว รวมถึงได้จัดทำข้อมูลอาชีพ และข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของตลาดแรงงาน เพื่อใช้ในการแนะแนวการศึกษาและอาชีพแก่นักเรียน นักศึกษา เป็นประจำทุกปี

สร้างโดย  -   (1/7/2559 17:23:23)

Download

Page views: 89