4 ประเทศ ‘CLMV’ มั่นใจ ร่วมมือไทยดูแลสิทธิแรงงานต่างด้าว


    กระทรวงแรงงานเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  4 ประเทศส่งออกต่างด้าว ‘CLMV’ มั่นใจร่วมมือไทยดูแลสิทธิแรงงาน ตั้งคณะทำงานร่วมเป็นกลไกแก้ปัญหา เชื่อมความร่วมมือนำเข้าแรงงาน
ถูกกฎหมายแบบ MoU ไม่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสภาพการจ้าง/สภาพการทำงาน และร่วมกันให้ข้อเท็จจริงแก้ไขสื่อเผยแพร่ข่าวเชิงลบ กำหนดยุทธศาสตร์ระยะสั้น-ยาว มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

    นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า     พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลแรงงานต่างด้าวซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม จึงได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ซึ่งเป็นประเทศส่งออกแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐ
    ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เชิญเอกอัครราชทูตจาก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และลาว มาพบเพื่อร่วมหารือและติดตามความคืบหน้าภายหลังการประชุมความร่วมมือด้านแรงงาน เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อขอรับทราบข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานทั้งสี่สัญชาติในประเทศไทย รวมทั้งหารือเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในฐานะมิตรประเทศ และกระทรวงแรงงานได้นำเสนอกรอบความร่วมมือที่จะทำงานร่วมมือกันด้วย อาทิเช่น การร่วมมือสนับสนุนการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) และได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ การมีกลไกทำงานร่วมกันในรูปแบบคณะทำงานร่วม เพื่อเป็นช่องทางการหารือและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ เช่น สภาพการจ้าง การคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านแรงงานร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
    กำหนดการลงพื้นที่ร่วมกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตกับกระทรวงแรงงานเพื่อตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและที่พักอาศัย รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างไทยและแรงงานของชาติตน ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข่าวที่เกิดผลกระทบในเชิงลบด้านแรงงาน จะได้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนและสังคมให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับการดำเนินการตาม MoU และข้อตกลง (Agreement) ให้คู่ภาคีร่วมกันวางแผนการดำเนินการและมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม
    ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ทั้งสี่ประเทศได้แสดงความเห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงแรงงานเสนอ และยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติของทั้งสองฝ่ายในภาพรวม

สร้างโดย  -   (1/7/2559 17:24:17)

Download

Page views: 292