ความเป็นมา กสทช.

ภารกิจการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ( Universal Service Obligation : USO)
ความเป็นมาของการจัดให้มี บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม

การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงในบริบทของประเทศไทย ถูกกำหนดขึ้นภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (12) และมาตรา 50 ประกอบพระราชบัญญัติโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 17 ซึ่งกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม

ภารกิจ USO (Universal Services Obligation) หรือการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม มีหลักการสำคัญในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่ และมิติเชิงสังคม

ด้วยเหตุผลที่ว่า การลงทุนในตลาดเสรีที่มีการแข่งขัน ผู้ประกอบการมักจะเลือกลงทุนในพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าเป็นสำคัญ ส่งผลให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมักจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง จึงเป็นผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกลไกบางอย่างเข้าแทรกแซง เพื่อให้เกิดการลงทุนในการจัดให้มีบริการในพื้นที่ที่ขาดแคลน โดยไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อมการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงประเด็นการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมในมิติเชิงพื้นที่ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาโดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการขยายโครงข่ายในพื้นที่ที่ขาดแคลนแล้วนั้น ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมยังเกิดขึ้นในมิติเชิงสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ ล้วนเป็นข้อจำกัดในเชิงปัจเจก เช่น กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีรายได้น้อย และ ผู้ที่ขาดทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)         มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม (Digital Divide) ใน 3 ด้านสำคัญ ดังนี้

  1. การสร้างการครอบคลุมโครงข่ายอย่างทั่วถึง (Availability)
  2. การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคมเพื่อ กลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึง สนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะการใช้งาน ICT (Accessibility)
  3. การจัดให้มีบริการเพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างเท่าเทียม (Affordability)
คำจำกัดความของบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน

“บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” หมายความว่า บริการโทรศัพท์และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง  โดยไม่จำกัดประเภทของเทคโนโลยี และลักษณะการใช้งาน รวมถึงอุปกรณ์ปลายทาง ซอฟต์แวร์ หรือส่วนกระกอบอื่นๆ ตามความจำเป็น ตลอดจนจัดให้มีการส่งเสริมและเพิ่มทักษะความรู้อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการดำเนินการ USO นั้น มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับกรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย กฎหมายกำหนดให้ หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม มีหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ส่วนหนึ่งจากการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาต เพื่อนำมาอุดหนุนให้เกิดบริการตามเป้าหมายที่กำหนด

ผลการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO

ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ที่สอดคล้องตามหลักสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถแบ่งเป้าหมายการดำเนินการจนถึงปัจจุบันได้เป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 : พ.ศ. 2548 - 2552
มุ่งเน้นการขยายการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมทางเสียงเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้มีการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะประจำหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลซึ่งไม่มีบริการใดๆ เข้าถึง จำนวน 6,000 เลขหมาย , ติดตั้งโทรศัพท์ประจำที่ ณ สถานีอนามัย จำนวน 4,000 เลขหมาย , ในเขตชุมชนผู้มีรายได้น้อย จำนวน 2,600 เลขหมายทั่วประเทศ รวมถึงการจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะภาษามือ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการกว่า 5,000 เลขหมายทั่วประเทศ
  • ระยะที่ 2 : พ.ศ. 2553 – 2554

ยกระดับการให้บริการที่มุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมและบริการอินเทอร์เน็ตแบบสาธารณะมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานโทรคมนาคมของประชาชน ที่เริ่มยกระดับไปสู่การเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศบนโครงข่ายโทรคมนาคมมากขึ้น โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตประจำโรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกลจำนวน 520 แห่งทั่วประเทศ
  2. ติดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ในพื้นที่ห่างไกล จำนวน 379 แห่งทั่วประเทศ
  3. ติดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม ที่สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานตามประเภทของผู้พิการอีกกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ
  • ระยะที่ 3 : พ.ศ. 2555 – 2559

จากการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ทั้ง 2 ระยะที่ผ่านมา ประกอบกับ การผลักดันนโยบายและกติกาที่เกี่ยวข้องการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมบนพื้นฐานของการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เป็นผลให้ภาพรวมของตลาดโทรคมนาคมไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การลดลงของอัตราค่าบริการก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นเช่นเดียวกันด้วย

จากฐานข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ณ ปี พ.ศ. 2555 พบว่า โครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์ส่วนบุคคลมีความครอบคลุมอยู่ในอัตราร้อยละ 94 ของประชากร และหากพิจารณาในส่วนของการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่แม้อัตราค่าบริการต่อเมกาบิตจะลดลงมากกว่า 1 เท่าตัว นับนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา แต่ความครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนประชากรกลับครอบคลุมเพียงร้อยละ 39 เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง กสทช. จึงต้องเร่งสนับสนุน และผลักดันให้เกิดการลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีแต่ไม่ไม่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงมากขึ้น

รวมถึง การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้พิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม มีโอกาสในการพัฒนาทักษะความรู้การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจน การส่งเสริมให้เกิดการคิดค้น พัฒนารูปแบบ และประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศบนโครงข่ายโทรคมนาคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม

จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 3 โดยที่ กสทช. ได้กำหนดเป้าหมายระยะ 5 ปี ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

  1. ประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของประเทศสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคล โดยการจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 1-2 เลขหมายต่อหมู่บ้านในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และไม่มีบริการ
  2. ประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดย
  • จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน อินเทอร์เน็ตในสถานที่ศึกษา และอินเทอร์เน็ตในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เป็นต้น ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และไม่มีบริการ
  • จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่กลุ่มเป้าหมายทางสังคมโดยเฉพาะ ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม จำนวนไม่น้อยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ
  • จัดให้มีระบบการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมเฉพาะทางสำหรับผู้พิการ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนคน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เช่นคนปกติทั่วไป
  • ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มทักษะความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม จำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสนคน
  • ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางดำเนินการจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉิน โดยรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดให้มีบริการ USO
 
ผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ USO

ผลของการดำเนินการจัดให้มีโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการ USO พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ สามารถสรุปภาพรวมได้ดังนี้

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้าน โดยสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) พิจารณากำหนดและจัดแบ่งพื้นที่เป้าหมายรับผิดชอบดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้าน ตามนโยบายของรัฐบาล ครอบคลุมจำนวน ๔๔,๓๕๒ หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับผิดชอบดำเนินการ ๒๔,๗๐๐ หมู่บ้าน และสำนักงาน กสทช. รับผิดชอบดำเนินการ ๑๙,๖๕๒ หมู่บ้าน ด้วยอัตราความเร็วในการเชื่อมต่อไม่น้อยกว่า ๓๐/๑๐ Mbps. ทั้งระบบสายเคเบิ้ล (Fiber to the x: FTTx) และไร้สาย (Satellite) ไปยังพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียนกองทุนเพื่อการศึกษา และมูลนิธิโครงการหลวง


ความเป็นมา-1.png

Download

  • TC012_USO-ถท.pdf
  • ความเป็นมาNBTC_USO-ไทย.pdf
  • ความเป็นมา-USO.pdf

สร้างโดย  -   (17/2/2559 18:21:08)

Download

Page views: 13545