เลขาธิการ กสทช. ชี้แจงเรื่องเน็ตประชารัฐ

ไขข้อข้องใจที่หลายคนเข้าใจผิดโครงการเน็ตประชารัฐ “ฐากร” แจงมี 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านที่เปิดบริการแล้ว เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี ที่ให้ทีโอที ดำเนินการ ที่กำลังมีปัญหาตอนนี้ 2. เน็ตประชารัฐในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ภายใต้ความรับผิดชอบกสทช. รอรับมอบ 28 ก.ย.นี้ และ 3. เน็ตประชารัฐในพื้นที่ชนบท 15,723 หมู่บ้าน ภายใต้ความรับผิดชอบกสทช. คาดประกวดราคากลางเดือน ต.ค.นี้ ยืนยันอีกรอบในส่วน กสทช.ยังไม่ได้เปิดบริการเลย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในขณะนี้ กสทช.รอการรับมอบโครงการเน็ตชายขอบ หรือ โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งจะครบกำหนดสัญญาติดตั้งในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการใช้เงินจากกองทุน USO

“ส่วนโครงการเน็ตประชารัฐที่มีปัญหานั้น เป็นการดำเนินการติดตั้งโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 15,000 ล้านบาท ดำเนินการ”

เน็ตประชารัฐเริ่มร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะเยี่ยมชมบูทต่างๆ ในงานดิจิทัล ไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018 มหกรรมโชว์ดิจิทัลเทคโนโลยีระดับนานาชาติ จัดที่อิมแพ็ค เมืองทอง สัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงความไม่พอใจว่า โครงการนี้ใช้ไม่ได้ พร้อมระบุว่าได้รับฟีดแบ็กรับฟังมาจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ และเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา “ท่านนายกฯ” เพิ่งเซ็นหนังสือตามงาน ถามตรงๆ ว่า “เน็ตประชารัฐใช้งานได้จริงไหม” แต่ที่หนักกว่านั้น “ท่านนายกฯ” บอกด้วยว่า มีเรื่องร้องเรียนมากองอยู่บนโต๊ะทำงานเป็นกระตั้กๆ เกี่ยวกับการใช้งานที่ตะกุกตะกักตามประสาของใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเอกชนบางรายแอบอ้างชื่อ “ท่านนายกฯ” จนได้รับงานบางส่วนในโครงการเน็ตประชารัฐ อีกทั้งยังแอบอ้างถึงขนาดไปขอ “แก้สเปก” ภายหลังได้รับงาน จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพของโครงการในหลายพื้นที่ถึงขั้นใช้การไม่ได้

“เรื่องเน็ตประชารัฐความรับผิดชอบตรงๆ เป็นของทีโอที กับดีอี บังเอิญในช่วงที่ท่านนายกฯ ตำหนิเรื่องนี้ขึ้นมา ยืนอยู่หน้าบูท กสทช.พอดี ก็เลยมีการเข้าใจผิดว่า เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านที่มีปัญหานั้น กสทช.เป็นคนทำ” คนที่อยู่ในเหตุการณ์อธิบายให้ฟัง

เพื่อไม่ให้สับสนและเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องความรับผิดชอบว่าควรตำหนิใคร และใครบกพร่องจนไม่น่าให้อภัย เพราะเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงดีอี ให้เหมารวม 3 โครงการที่มีอยู่ เรียกว่าโครงการเน็ตประชารัฐทั้งหมด อาจเป็นเพราะว่าต้องการให้สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก เพื่อปัดขยะให้พ้นตัว

***แยกให้ถูกใครทำโครงการไหน

ภาพรวมโครงการเน็ตประชารัฐ ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 3 โครงการ คือ

1. โครงการเน็ตประชารัฐ ในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน โดยจะต้องมีจุดฟรีไวไฟหมู่บ้านละ 1 จุด อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี ที่มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการด้วยงบประมาณแผ่นดิน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลส่งต่อจากเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช.ส่งให้รัฐบาล ซึ่งเปิดให้บริการประจานความไร้ประสิทธิภาพของโครงการ และเป็นปัญหาที่ “ท่านนายกฯ” ไม่พอใจในขณะนี้

2. โครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ชายขอบ หรือโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) ในพื้นที่ 3,920 หมู่บ้าน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กสทช. ที่รอการรับมอบจากบริษัทที่ชนะการประมูล ซึ่งตามสัญญาระบุวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยใช้เงินจากกองทุน USO จำนวน 1.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งย้ำชัดๆ อีกครั้งโครงการนี้ยังไม่ได้เปิดบริการเลย โดยระยะเวลาเปิดบริการอาจล่าช้าไป 15 วัน หรือ 1 เดือน เนื่องจากสภาพฟ้าฝน ทำให้การติดตั้งเป็นไปอย่างยากลำบาก

แต่เอกชนหลายรายก็ทำงานคืบหน้าไปมากตั้งแต่ระดับ 67% ถึง 96% เหลือแต่เพียงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีความคืบหน้าเพียง 0 ถึง 10% เท่านั้น

โดยโครงการนี้จะมีทั้งศูนย์ USO Net ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีทุกหมู่บ้าน ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีในโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี พร้อมทั้งให้คิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตในบ้านในราคาเพียงเดือนละ 200 บาทเท่านั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายขอบ ห่างไกล ทุรกันดาร จึงกำหนดราคาเพียงเท่านี้

3. โครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ชนบท หรือโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,723 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับโครงการเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน โครงการนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กสทช.ใช้เงินจากกองทุน USO ประมาณ 19,674.78 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะประกวดราคาแบบ e-Bidding ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ในราวกลางเดือน ต.ค. และเซ็นสัญญาภายในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ และเพื่อให้โปร่งใสทุกขั้นตอน โครงการนี้เป็นโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีตัวแทน 6 คนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นผู้สังเกตการณ์โครงการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) ไปจนกระทั่งจบโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการจะได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะไวไฟหมู่บ้าน จำนวน 15,584 จุดบริการมีอาคารศูนย์ USO NETในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการไวไฟ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ 228 โรงเรียน มีห้อง USO NET ในโรงเรียน พร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และจุดบริการไวไฟพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ 1,623 โรงเรียน มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ ไวไฟโรงเรียนพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3,170 โรงเรียน รวมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่จะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 5,021 แห่ง และมีจุดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะไวไฟโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล (รพ.สต.) จำนวน 91 แห่ง

โดยทั้งหมดนี้ กสทช. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้บริการ และบำรุงรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งจะมีแพกเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการโดยคิดราคาไม่เกิน 360 บาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะให้บริการได้ภายในเดือน มี.ค.2562

“เข้าใจตรงกันแล้วนะว่า เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านที่เปิดบริการตอนนี้ เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)” แหล่งข่าวกล่าวย้ำ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ (คลิ๊ก)
 

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (26/9/2561 16:35:07)

Download

Page views: 8917