สำนักงาน กสทช. จัดสัมมนา “รายการขยี้ข่าว ‘สะท้อน’ หรือ ‘ซ้ำเติม’ ปัญหาสังคม” เสนอแก้ปัญหารายการ “ขยี้ข่าว” หยุดซ้ำเติมปัญหาสังคม

        สำนักงาน กสทช. จัดสัมมนากะเทาะปัญหา "รายการขยี้ข่าว" ชี้เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงและเร้าอารมณ์ดราม่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนและบุคคลในข่าว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน แม้จะเรียกเรตติ้งได้เพราะคนชอบดู เปรียบรายการขยี้ข่าวเหมือนอาหารเปรี้ยวหวานมันเค็ม กินมากจะเกิดโรค เสนอควรเร่งรณรงค์เป็นวาระแห่งชาติ
        วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการสัมมนา เรื่อง “รายการขยี้ข่าว ‘สะท้อน’ หรือ ‘ซ้ำเติม’ ปัญหาสังคม”
        ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า รายการขยี้ข่าว  ในที่นี้เป็นรายการข่าวที่มีวิธีการนำเสนอแบบเร้าอารมณ์ เน้นดราม่า มีตัวดี ตัวร้าย โดยมักนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม ข่าวชาวบ้าน เรื่องอื้อฉาวและประเด็นปุถุชนสนใจ และเน้นดึงดูดให้ดูต่อเนื่องยาว ๆ ด้วยองค์ประกอบเรื่องเพศ และความรุนแรง ความแปลกประหลาด ความเชื่อแบบเหนือธรรมชาติ เป็นต้น จากการสำรวจเบื้องต้นของ Media Alert และการประมวลเพิ่มเติมจากทีม กสทช. พบว่า สองในสามของข่าวโทรทัศน์ในปัจจุบันมีลักษณะของการขยี้ข่าว ซึ่งปรากฏทั้งในช่วงรายการข่าว หรือเป็นรายการแบบสนทนาและนำเอาคู่ขัดแย้งมาปะทะสังสรรค์กัน โดยมีผู้ดำเนินรายการกำกับเวที ทั้งนี้ รายการขยี้ข่าวนับว่ามีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำในสังคมในอีกทางหนึ่ง
        “ที่น่าสังเกตคือ คนที่เป็น subject ของรายการประเภทนี้มักจะเป็นชาวบ้าน หรือกลุ่มชนชั้นในสังคมที่รายได้และโอกาสทางสังคมน้อยกว่า มักเข้าไม่ค่อยถึง resource หรือ สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม การมาอยู่ในรายการแบบนี้อาจมองได้เป็นสองมุมคือ หนึ่งการสะท้อน และสองการตอกย้ำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของระบบ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอความรุนแรงเชิงกายภาพเพื่อตอกย้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ส่วนผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกจะไปดูสตรีมมิ่ง      ก็ต้องรับชมข่าวที่ไม่สร้างสรรค์และวัฒนธรรมขยี้ชีวิตชาวบ้านต่อไป ผลสัมฤทธิ์ของทั้งหมดคือ พื้นที่สาธารณะที่หดหายไป และการผลักคนที่มีทางเลือกไปสู่สตรีมมิ่งและออนไลน์มากขึ้นไปอีก” กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าว
        ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ลักษณะของการจัดรายการโทรทัศน์ในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้ชม ซึ่งในประเทศไทยนั้น รายการมีลักษณะเร้าอารมณ์มากกว่าในบางประเทศ ทั้งนี้ การรับชมรายการที่มีลักษณะขยี้ข่าวอยู่เรื่อย ๆ จะนำไปสู่ความรู้สึกชาชินต่อความรุนแรง ส่งผลให้คนใช้ความรุนแรงมากขึ้น      หรือยอมให้คนอื่นใช้ความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดการเรียนรู้ลอกเลียนแบบ หรือเกิดความเครียด วิตกกังวล สิ้นหวังต่อสังคมหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องอยู่กับอารมณ์ในเชิงลบนาน ๆ กระทบต่อสุขภาพจิตได้
          ผศ.ดร.สันติ กีระนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ      ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในหลาย ๆ กรณีมีการถูกขยี้ผ่านการนำเสนอข่าวจนทำให้เกิดการตีตรา โดยเฉพาะรายการที่เชิญเคสมานั่งเผชิญหน้ากันในรายการ แม้จะมีการให้ใส่หมวกหรือแว่นตาเพื่อปิดบังใบหน้าก็ตาม แต่นั่นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือการตีตราซ้ำหรือการกระทำซ้ำผ่านสื่อ เช่น การข่มขืนซ้ำ เป็นต้น และตอนนี้มี digital footprint ที่หนีไม่ได้ และในมิติกฎหมายเอง แม้จะมีกฎหมาย PDPA ก็ยังเป็นการคุ้มครองเสรีภาพและการทำหน้าที่ของสื่อ เหยื่อจึงยังถูกกระทำซ้ำด้วยการขยี้ผ่านสื่อ ดังนั้น สื่อควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพให้ครอบคลุม โดยต้องคำนึงว่าการใช้เสรีภาพของตนเองนั้นเป็นการไปลิดรอนสิทธิของคนอื่นหรือไม่ “สื่อต้องพิจารณาเรื่องความชอบของผู้ชม แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องคำนึงด้วยว่าคนที่ชอบกินเปรี้ยวหวานมันเค็มครบรสก็จริง แต่สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน” นายสันติ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ก็จะทำให้เกิดความยากในการป้องกันและแก้ไข ซึ่งการป้องกันย่อมมีต้นทุนน้อยกว่าการแก้ไขเสมอ
        “สังคมมีพลวัตร เปลี่ยนแปลง เราต้องอยู่กับมันอย่างมีสติ หากร่วมมือกัน สื่อความกันอย่างกัลยาณมิตร คงจะลดดีกรีความเปรี้ยวหวานมันเค็มกันได้บ้าง” นายสันติ กล่าวและเสริมว่า ควรจัดให้การรู้เท่าทันสื่อเป็นความรู้พื้นฐานของทุกคนเช่นเดียวกับความรู้ด้านการเงิน
          นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรการลงโทษของ กสทช. ตามกฎหมาย หรือการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ หากใช้มากเกินไปอาจส่งผลด้านลบให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ลดการทำงานตรวจสอบได้ อีกวิธีการหนึ่งคือการให้รางวัลสนับสนุนสื่อที่ดี และการพูดคุยปรึกษาหารือกันให้มากขึ้น
          นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาคงต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน นอกจากกลไกตามกฎหมายและการกำกับดูแลกันเองแล้ว โดยปกติสื่อจะตอบสนองต่อกระแสสังคมที่กดดัน แต่ในขณะที่คนในสังคมบางส่วนก็ยังรับชมเนื้อหาขยี้ข่าวอยู่ อยากเรียกร้องไปยังเจ้าของสื่อว่า อย่าบีบคั้นเรื่องเรตติ้งมาก
        “เบื้องต้น ขอเสนอ กสทช. พม. กรรมการสิทธิมนุษยชน กรมสุขภาพจิต ร่วมกำหนดเป็นวาระร่วมกันเลยว่า   ข่าวอะไรที่กระทบเด็ก เราจะไม่ยอม จะต้องเปลี่ยน mindset ระดับชาติ รวมถึงพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่ไลฟ์เด็ก ตลอดเวลา”นางสาวสุภิญญา กล่าวและเสริมว่า นอกจากนี้ ควรมีการเจรจากับแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย ให้เปิดการมองเห็นให้กับ  สื่อคุณภาพมากขึ้น สวนทางกับคลิกเบตหรือเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบด้านลบ
          นายธีมะ กาญจนไพริน ผู้ประกาศข่าว ช่องวัน 31 กล่าวว่า การจัดรายการเล่าข่าวมีพัฒนาการจากการลองผิดลองถูก ท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิเรตติ้งที่วัดกันทุกนาทีเพื่อแย่งชิงรายได้ที่จะเกิดจากยอดจำนวนผู้ชม ส่วนตัวเคยทำผิดพลาด และถูกลงโทษ ซึ่งทำให้มีความระมัดระวังมากขึ้น โดยจะทำความเข้าใจพูดคุยกับทีมงาน อย่างไรก็ตาม ลักษณะในการเล่าข่าวและการคำนึงถึงผลกระทบของการขยี้ข่าวอาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของช่อง และในกลุ่มผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการแต่ละรายการ
        “การกระตุ้นจิตสำนึกมีผล ยิ่ง ‘ผู้ดำเนินรายการที่’ เป็นคนมีชื่อเสียง มีต้นทุน มีวุฒิภาวะอยู่แล้วย่อมตระหนักได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันส่งผลกระทบอย่างไร”
        ว่านน้ำ พันทิป โซเชียลมีเดียอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มาในฐานะตัวแทนผู้ชมรายการโทรทัศน์ กล่าวว่า การมาถึงของอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพสูงและมีความเร็วมากขึ้น ทำให้โซเชียลมีเดียเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและสะดวกขึ้น ด้านหนึ่งเป็นประโยชน์มาก แต่อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง จากปกติที่สื่อหลักต้องนำเสนอเพียง What When Where Why เท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าสื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เท่าทันสื่อใหม่ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่าการขยี้ข่าวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องทำในลักษณะที่เป็นการให้ประโยชน์แก่สังคม เช่น การให้ความรู้ในการระมัดระวังตัวเอง หรือการให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมด้วย
        “ต้องยอมรับว่าคนไทยรักความสนุก ชอบรสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ครบรส  อย่างไรก็ดี ในฐานะสื่อเรานำเสนอให้สนุกได้ แต่ก็ควรที่จะเติมคุณค่าเข้าไปด้วย เพื่อให้สังคมได้รับครบทุกรสชาติ” ว่านน้ำ พันทิป กล่าว
 
 

สร้างโดย  -   (20/5/2567 14:41:28)

Download

Page views: 136