กสทช. เดินหน้าพัฒนาวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน

     กสทช.มีมติเห็นชอบประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล หลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการกระจายเสียงของประเทศไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมีพลวัตสอดคล้องกับบริบทดิจิทัลตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่กำหนดให้มีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนและผู้ประกอบการ นอกเหนือจากวิทยุกระจายเสียงในระบบ FM อนาล็อก เดิม
     พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวเป็นการกำหนดทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุด้วยระบบ Digital Audio Broadcasting (DAB) ที่มีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 High Efficiency Advanced Audio Coding Version 2 (MPEG-4 HE AAC v2) หรือที่เรียกว่า DAB+ Audio ซึ่งเป็นการเผยแพร่สัญญาณเสียงภาคพื้นดิน(On Air) ด้วยระบบดิจิทัล นอกเหนือจากการมีคุณภาพเสียงที่คมชัด รับฟังได้โดยไม่มีสัญญาณรบกวนแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นเสริม เช่น ตัวอักษรวิ่ง (Text Scrolling), แสดงภาพนิ่ง (Slide Show), ผังรายการอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Program Guide: EPG), ข้อมูลจราจรและการเดินทาง (TPEG) และที่สำคัญสามารถนำมาใช้เป็นระบบแจ้งเตือนภัย (Emergency Warning System: EWS) ได้ โดยที่หากสามารถสร้างโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จะทำให้สามารถรับฟังรายการได้อย่างต่อเนื่องและได้รับการแจ้งเตือนได้ด้วยเนื้อหาเดียวกันทั่วประเทศ หรือ กำหนดการกระจายเสียงให้เป็นระดับชาติ ภูมิภาค หรือ ท้องถิ่น ได้อย่างแท้จริง
     ระบบนิเวศของวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล จะเปลี่ยนไปจากระบบเดิม โดยที่ในระบบ FM อนาล็อกนั้นผู้ประกอบการเจ้าของสถานีนอกจากรับผิดชอบเรื่องการผลิตเนื้อหารายการแล้ว ยังต้องเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องส่งและโครงข่ายเสาส่งในการออกอากาศเองทั้งหมด รวมทั้งการออกอากาศก็จำกัดภายในรัศมีครอบคลุมพื้นที่ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่เนื้อหาเป็นสถานีวิทยุในระดับประเทศได้ แต่สำหรับระบบดิจิทัลนั้นแยกผู้ประกอบการที่เป็นโครงข่ายออกจากเจ้าของสถานีออกจากกัน ทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรทั้งคลื่นความถี่และอื่นๆ ไม่เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และเจ้าของสถานีจะทำหน้าที่ผลิตเนื้อหารายการเพียงอย่างเดียว ทำให้มีเนื้อหารายการที่ดีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น    
     “วิทยุกระจายเสียงถือเป็นกิจการสื่อสารสุดท้ายที่ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ นับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงเปิด "สถานีวิทยุพญาไท" และมีกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวันฉัตรมงคล ซึ่งถือว่าเป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ จากนั้นได้มีการพัฒนาจาก AM มาเป็น FM ราวปี พ.ศ.2495 จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ อย่างไรก็ตาม กสทช. มิได้มีความประสงค์จะยกเลิกระบบ FM เดิม เพียงแต่เสนออีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งควรต้องดำเนินการพัฒนาให้มีโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่เป็นประโยชน์ แบบ On Air ได้ฟรีเช่นเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีอีกทางเลือกคือการรับฟังวิทยุ Online ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งหากโครงข่ายอินเทอร์เน็ทไปไม่ถึงหรือไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะไม่สามารถรับฟังได้ ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปคงต้องพิจารณาแนวทางในการอนุญาตหรือพัฒนาโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามมาตรฐานที่กำหนดนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะเป็นเจ้าของสถานีสามารถให้บริการได้ต่อไป” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ ฯ กล่าว
 

สร้างโดย  -   (27/9/2567 9:24:59)

Download

Page views: 0