กสทช. จับมือ อย. ให้ความรู้ผู้ประกอบการสื่อ เอเยนซี่ให้โฆษณาอาหารและยาให้ถูก กม.
วันนี้ (9 สิงหาคม 2556) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดอบรมผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เอเยนซี่โฆษณา ผู้ผลิตอาหารและยา กว่า 400 คน เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาอาหารและยา เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง หลัง กสท.มีมติระงับโฆษณาในทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง และจ่อคิวระงับอีกหลายช่อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวงจากโฆษณาอาหารและยาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสท. เห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาโฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย มติ กสท.ล่าสุดสั่งระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์เจนิฟู๊ดในช่องพอใจแชนแนลไปแล้ว และยังมีอีกหลายช่องที่นำโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.มาออกอากาศ ซึ่งทั้ง กสทช.และอย.มอนิเตอร์พบ กำลังมีการดำเนินการระงับโฆษณาดังกล่าวอีกหลายช่องที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ “ปัจจุบันกสทช.มีการมอนิเตอร์การโฆษณาและออกอากาศในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าเราสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะระบบทีวีดาวเทียม แต่ในส่วนของเคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ที่มีอยู่ถึง 9,000 สถานีทั่วประเทศนั้น การตรวจสอบติดตามให้ทั่วถึงเป็นเรื่องยาก จึงต้องผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแลการโฆษณาที่ผิดปกติด้วย"
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งสื่อทีวีและวิทยุซึ่งยื่นขอรับใบอนุญาตจากกสทช.กว่า 8,000 ราย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของอย.อย่างเคร่งครัด พบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังพบการกระทำผิด หากพบการกระทำความผิด กสทช.สามารถใช้อำนาจทางปกครอง สั่งลงโทษผู้ประกอบการทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกับกสทช.ไว้ อาทิ มาตรการขึ้นบัญชีดำ การสั่งปรับ การระงับใบอนุญาต หรือไม่ต่อใบอนุญาตให้ในปีถัดไป เป็นต้น
ด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.นับเป็นหน่วยงานหลักในการให้อนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งการอนุญาตโฆษณาในสื่อต่างๆ ที่ผ่านมา อย. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง มีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาใน อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เราได้ดำเนินการทางกฎหมายมาโดยตลอด แต่ อย.เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ จึงมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ) ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อแก้ปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ ร่วมกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ประกอบกับขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ปัญหาการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกม.ในสื่อน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. พร้อมปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ อาทิ เพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและได้รับอนุญาตจาก อย.จาก 5,000 บาท เป็นไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังกำหนดแนวทางจัดการปัญหาโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างซ้ำซาก เชื่อมโยงในการพักใบอนุญาตผลิต การเพิกถอนทะเบียนตำรับและเลขสารบบ ส่วนสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุคลื่นใด ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายตามที่อย.ตรวจพบ ก็อาจมีผลกระทบต่อการขอต่อใบอนุญาตกับ กสทช. ด้วย เป็นการสะท้อนว่าอย.ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดเพื่อดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลโฆษณาที่ขออนุญาต ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการแลกเป็นข้อมูลผู้ประกอบการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตัวอย่างโฆษณาที่ผิดกฎหมาย การโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และบริษัทผู้กระทำผิด ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังร่วมกัน และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้กับสังคม สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์โฆษณาที่ดีต่อไป
สร้างโดย - (22/3/2560 13:46:56)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 164