กสทช. จับมือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย จัดประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยทั่วถึงเพื่อสังคม
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) จัดงานประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเกี่ยวกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยทั่วถึงเพื่อสังคม ระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมพูลแมน แบงคอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมี พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พณฯ ท่านซิเอาซี่ โซวาเลนี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารแห่ง ราชอาณาจักรตองกา พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นายอีวานเน โครอยอีวูกี ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และนายบาร์ท ดับเบิลยู เอเดส ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาด้านสังคมและการปกครอง โดยงานนี้มีผู้แทนประเทศกว่า 30 ประเทศ และนักวิชาการ นักโทรคมนาคม และผู้สนใจจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ทั้งหมดกว่า 250 คนเข้าร่วมงาน
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย ได้ทำให้เกิดการพัฒนาและลดค่าใช้จ่ายด้านการโทรคมนาคมลงอย่างมาก รวมถึงยังเพิ่มจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือทั่วโลกขึ้นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีประชากรอีกนับพันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารพื้นฐานและอินเทอร์เน็ตได้ซึ่งทำให้ขาดโอกาสและเกิดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิตอลในสังคม หรือที่เรียกกันว่า digital gap ซึ่งจุดนี้เองที่ USO หรือ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้โดยสะดวก และในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม โดยในประเทศไทยเอง กสทช. ก็ได้ดำเนินงานด้าน USO มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และมีเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ คือ ขยายโครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ทั่วประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากโครงการ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค” หรือ ICTD-ASP (ICT for Development in the Asia-Pacific Region)” ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่าง ITU และ ADB ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 และภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ในฐานะตัวแทน กสทช. จึงได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการให้ความร่วมมือกับ ITU และ ADB โดยการจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับภูมิภาคครั้งแรกภายใต้กรอบ ICTD-ASP นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงในภูมิภาค และการส่งเสริมการขยายโครงข่ายและการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband)
พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การจัดประชุมนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน จาก 30 ประเทศทั้งในเอเชีย แปซิฟิค และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อมาร่วมกัน “ลดช่องว่าง” ทางโอกาสในโลกดิจิตอลระหว่างผู้เข้าถึง และผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้แคบลง
“การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO) ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมากทั้งในด้านนโยบายและกรอบการทำงาน โดยปัจจุบัน USO ในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการจัดให้มีบริการต่างๆ ไม่เฉพาะบริการพื้นฐานด้านเสียง (telephone) แต่ยังรวมถึงการให้บริการด้านข้อมูล หรืออินเทอร์เน็ตอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ เหล่านี้ และในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบริการ นอกจากนี้แนวโน้มกรอบการพัฒนา USO สมัยใหม่ยังรวมถึงการส่งเสริมการพัฒนา application และ content โดยมุ่งหวังการกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้งานหรืออุปสงค์ (demand) นอกเหนือไปจากการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมซึ่งเป็นอุปทาน (supply) ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งของนโยบาย USO คือมุ่งหวังการลดช่องว่างทางโอกาส และการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาดที่เป็นอยู่แต่ควรส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น”
“ที่ผ่านมาทาง สำนักงานกสทช. และ ITU ได้มีความร่วมมือในหลายๆ ด้าน ซึ่งในด้าน USO เองนั้น ได้มีความร่วมมือในการจัดทำนโยบาย การพัฒนากรอบการทำงาน ติดตามและประเมินผลโครงการ USO โดยการนำเอาประสบการณ์และหลักปฏิบัติที่เป็นสากลมาประยุกต์ใช้กับ USO ในประเทศไทยจนทำให้โครงการ USO ของเรามีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน อีกทั้งการดำเนินงานยังเห็นผลเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้ กสทช. มีเป้าหมายสำคัญในการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ทั้งในลักษณะบริการทางเสียง (Voice Service) และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Data Service) ทั้งแบบมีสาย (Wireline) และไร้สาย (Wireless) ให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบท ห่างไกล ทุรกันดาร รวมทั้งพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ (Un-served Zone) หรือมีแต่ยังไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ (Underserved Zone) ตลอดจนให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทางสังคม อันได้แก่ เด็ก คนพิการ คนชรา ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน สามารถรองรับการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว”
“ทั้งนี้ ภายใต้แผนการดำเนินงานด้าน USO คาดว่าภายในสิ้นปี 2559 ประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของประชากรทั้งประเทศจะสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมทางเสียง ทั้งในรูปแบบโทรศัพท์พื้นฐานประจำที่ โทรศัพท์สาธารณะ รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกทั้งประชาชนไม่ต่ำว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรประเทศสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ของประเทศอีกด้วย” พลเอก สุกิจ กล่าว
การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเกี่ยวกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยทั่วถึงเพื่อสังคมประกอบด้วย นิทรรศการที่แสดงความสำเร็จของโครงการ USO และโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย อาทิ โครงการ USONET หรือศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตชุมชม โครงการ TTRS ซึ่งเป็นการให้บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและการพูด โครงการ NBTC-ITU Volunteers หรือโครงการอาสามัคร NIV จิตอาสาเพื่อสังคม โครงการและนิทรรศการของผู้สนับสนุนการจัดงาน รวมไปจนถึงการเสวนาเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ นโยบายการให้บริการ USO และนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ การส่งเสริมอุปสงค์และอุปทานด้านบริการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การสื่อสารในเหตุภัยพิบัติและกรณีฉุกเฉิน การให้บริการทางการเงินดิจิตอล การเข้าถึงบริการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้พิการ และกลไกการเงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ยังมุ่งหวังความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ระหว่างประเทศต่างๆและองค์กรระหว่างประเทศเช่น ITU ADB World Bank ฯลฯ เป็นต้น
เกี่ยวกับ NBTC และ USO
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 โดยมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประโยชน์สาธารณะอื่นๆ รวมถึงการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม
หนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของ กสทช. คือการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation ) หรือที่เรียกสั้นๆว่า USO โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรคมนาคมและสารสนเทศอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ยังไม่มีผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม หรือมีแต่ไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการตามสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม
เกี่ยวกับ ITU
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunication Union (ITU) เป็นทบวงชำนาญ การพิเศษภายใต้สหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร ด้วยประวัติการทำงาน เกือบ 150 ปี ITU ได้ประสานความร่วมมือในการจัดสรรการใช้คลื่นวิทยุความถี่ของสังคมโลก ส่งเสริมความร่วมมือ ของนานาชาติในการจัดสรร วงจรดาวเทียม ตลอดจนทำงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบการสื่อสาร โทรคมนาคมพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา ITU มีบทบาทในการวางมาตรฐานโทรคมนาคมทั่วโลก เพื่อเชื่อมโยงระบบสื่อสารรูปแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายบรอดแบนด์ เทคโนโลยีไร้สายยุคใหม่ ระบบนำร่องเพื่อการบินและการเดินทะเล ไปจนถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และระบบออกอากาศของโทรทัศน์จากอนาล็อคสู่ดิจิตอล ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.itu.int
Download
Agenda_(Programme_Guide)_FINAL_FINAL.doc
Gala_Dinner.pdf
Press-Release_D3-1.docx
Scenarios_thai_v1-1-(Comment-From-Khookhum).pdf
สร้างโดย - (7/3/2560 12:17:21)