ความจริงที่ขาดหายไป... ในปัญหาการประมูลคลื่น3 จี

ท่ามกลางความหิวกระหายของผู้บริโภคที่ต้องการจะเข้าถึงบริการสื่อสารไร้สายในระบบ3 จี กับปัญหาความความเคลือบคลุมไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดสรรคลื่น2.1 GHz ให้แก่ผู้ประกอบการหน้าเดิม 3 รายนั้น หลายคนเริ่มปวดหัว คิดว่าตนมีกรรมต้องถูกบังคับให้เลือกอีกครั้งหนึ่งว่า จะเลือกเอาอะไรถ้าอยากเข้าถึง 3 จี ก็ต้องหลับตาอย่าคิดมาก จะรั่วไหลไปบ้างก็ช่างมัน อย่างนั้นหรือ?
 
          บทความนี้ต้องการจะชี้บ่งว่า ทางเลือกที่แท้จริงยังหาเป็นเช่นนั้นไม่ ปัญหาประมูล 3 จีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ ที่จะเลือกมองเลือกคิดตามแว่นตาหรือโฟกัสของแต่ละคน   เหมือนช้างที่จะคลำแค่หางแล้วสรุปเป็นตุเป็นตะไม่ได้ ยังมีกรอบคิดและความจริงที่ต้องไต่สวนทวนความเพิ่มเติมกันอีกมาก ดังผมจะขอนำเสนอในทำนองปุจฉา-วิสัชนา ไปโดยลำดับดังนี้

โทรคมนาคมสองระบบ

ถาม บริการในระบบ 3 จี จากคลื่นใหม่ที่ประมูลกันนี้มีความเป็นมาอย่างไร

ตอบ คลื่นใหม่ที่2.1 GHz นี้ จัดสรรตามระบบใบอนุญาต ไม่ใช่ระบบสัมปทาน เป็นคลื่นที่เอาไปทำ3 จีได้โดยเฉพาะ มี กสทช.ดูแลจัดสรรตามกฎหมายใหม่ที่ระบุให้ใช้วิธีประมูลเหมาจ่ายส่งเงินให้คลัง ส่วนรัฐวิสาหกิจคือ ทีโอที หรือ กสท นั้น ไม่มีสิทธิเอาไปให้สัมปทานเหมือนคลื่นเดิมอีกต่อไปแล้วได้แต่คิดเท่านั้นว่าตัวเองน่าจะมาประมูลเอาไปประกอบการเองหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องหากินจากคลื่นเดิม บริการเดิม โดยวิธีขอแบ่งรายได้เป็น % ตามสัมปทานต่อไป


ถาม หมายความว่า ต่อไปนี้บริการในตลาดจะมี 2 เทคโนโลยี และ 2 ระบบกฎหมายใช่ไหมครับ
ตอบ ถูกต้องครับ เอกชนเขาจะมีบริการมาขายอยู่ 2 ตะกร้า  ตะกร้าแรกเป็นระบบเดิม ซึ่งต้นทุนและส่วนแบ่งรายได้จะเป็นการแบ่ง % จากรายรับตามระบบสัมปทานให้แก่รัฐวิสาหกิจคู่สัญญา ขณะเดียวกันอีกตะกร้าหนึ่งเอกชนเขาก็จะมีสินค้าของเขาเองคือ ระบบ 3 จีมาขาย ส่วนนี้รัฐจะมีรายรับตามโครงสร้างในระบบใบอนุญาตที่ต่างไปจากระบบสัมปทาน

สินค้าสองตะกร้านี้เมื่อสัมปทานหมดอายุแล้วก็จะเหลือแต่ระบบ 3 จี ตามใบอนุญาตมาเสนอขายเท่านั้น (อายุสัมปทาน TRUE เหลือ 1 ปี, AIS 3 ปี และ DTAC 6 ปี)

ต้นทุน คลื่น-โครงข่ายของโทรคมนาคมสองระบบ

ถาม หลายฝ่ายถามตรงกันว่า ราคาประมูลคลื่น2.1 GHz ที่สามบริษัทคือ AIS, DTAC, TRUE จ่ายเพื่อนำคลื่นไปใช้หากินให้บริการ 3 จีนี้ ทำไมมันจึงถูกกว่าเดิมมากเหลือเกิน
ตอบ ถูกกว่าอย่างไรครับถาม ในคลื่นเดิมระบบเดิมตามสัมปทานนั้นปีที่แล้วปีเดียวทั้งสามบริษัทจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐวิสาหกิจคือ ทีโอที และ กสทช. รวมกันเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาทแต่พอมาได้คลื่นใหม่ระบบใหม่ในการประมูลใหม่ อายุใบอนุญาต 15 ปีกลับเหมาจ่ายเงินให้รัฐเพียง 4.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้นด้วยต้นทุนที่ลดลงอย่างนี้มันไม่กำไรเละเทะหรือครับ

ตอบ คุณว่า 4.1 หมื่นล้านจ่ายก่อนทันที50% แล้วผ่อนที่เหลือ เพื่อได้คลื่นมาใช้15 ปีนี้ คุณว่าคิดเฉลี่ยเป็นราคาต่อปีเท่าไหร่

ถาม ผมคิดเฉลี่ยให้ไม่เกินปีละ 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งก็ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท/ปี ของระบบสัมปทานเป็นอันมาก ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ทำไม กทค.จึงไม่เห็นว่าราคาประมูลใหม่นี้ต่ำกว่าเดิมมาก ตกลงไปประมาณ 3.3 หมื่นล้าน/ปีเลยทีเดียว

ตอบ ผมว่าเรากำลังลืมความจริงสำคัญไปแล้วนะครับว่า นิติสัมพันธ์ในระบบใบอนุญาตกับระบบสัมปทานนั้นไม่เหมือนกันเลย 4 หมื่นล้าน/ปีที่จ่ายให้รัฐตามระบบสัมปทานนั้นมันไม่เหมือน 4.1 หมื่นล้าน/15 ปี ที่จ่ายให้ตามระบบใบอนุญาตเลยนะคุณ

คือเรื่องต้นทุนค่าคลื่นและโครงข่ายนั้นจริงๆ แล้วเราต้องเข้าใจว่ามันมีสองประเภท สี่รายการ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะถูกระบบใบอนุญาตและระบบสัมปทานจัดการต่างกันไป ดังนี้

ประเภทที่ 1 คือ "ค่าคลื่น" มีสามรายการ คือ

1) ค่าทรัพยากรสาธารณะ ที่ต้องจ่ายให้กระทรวงคลัง ถ้าเป็นระบบสัมปทานจะรวมอยู่ในค่าสัมปทานทั้งหมด ถ้าเป็นระบบใบอนุญาตจะแยกประมูลมาต่างหาก ดังเช่นยอด 4.1 หมื่นล้าน/15 ปี ที่ประมูลกันไปแล้วในปัจจุบัน


2) ค่าสนับสนุนพัฒนาโทรศัพท์ชนบท ตรงนี้ ทีโอทีจะนำไปพัฒนา โดยอาศัยเงินกองกลางที่เฉลี่ยมาจากรายรับที่ได้จากเขตเมือง ยอดรายจ่ายนี้ถ้าเป็นระบบสัมปทานจะรวมอยู่ในค่าสัมปทานทั้งหมด ถ้าเป็นระบบใบอนุญาต กสทช.จะเรียกเก็บต่างหาก 3.75% จากรายรับ โดยไม่รวมอยู่ในค่าประมูลคลื่น4.1 หมื่นล้านนั้น

3) ค่าพัฒนาและบริหารระบบโทรคมนาคมโดยรวม ยอดนี้ระบบสัมปทานเดิมจะรวมอยู่ในค่าสัมปทาน แต่ระบบใหม่จะแยกจ่ายให้ กสทช.เรียกเก็บเอาไปใช้โดยตรงอีก 2% ของรายรับ

ถาม ประเภทที่สองคืออะไรตอบ "คลื่น"มันเป็นแค่สิทธิทำถนนเท่านั้น จะเป็นถนนขนข้อมูลได้ มันต้องมีการลงทุนทำถนนหรือโครงข่ายอีก ตรงนี้ในสองระบบก็คิดต่างกันอีก

ประเภทที่ 2 คือ ค่าโครงข่าย มีรายการเดียวคือ

4) ค่าโครงข่าย ถ้าเป็นระบบสัมปทาน บริษัทจะใช้โครงข่ายของรัฐวิสาหกิจโดยจ่ายค่าใช้สอยรวมอยู่ในค่าสัมปทาน    แต่ถ้าเป็นระบบใบอนุญาตจะแยกค่าโครงข่ายออกมาต่างหาก  รายการนี้ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏตัวเลย ซึ่งผู้ประกอบการเขาอาจจะเจรจาขอเช่าโครงข่ายเดิมจากรัฐวิสาหกิจก็ได้ หรือลงทุนใหม่เป็นของตนเองทั้งหมดก็ได้


ถ้าเลือกทางลงทุนใหม่นี้ เอกชนจะต้องลงทุนอีกกว่า 70,000 ล้าน/15 ปี ทิ้งไม่ใช้โครงข่ายเดิมของรัฐวิสาหกิจเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะน่าเสียดายมากที่ผู้บริโภคต้องแบกภาระลงทุนสร้างโครงข่ายใหม่โดยไม่สมควร โดยเหตุเพียงเพราะว่าเอกชนกับรัฐตกลงราคากันไม่ได้เท่านั้น

ถาม หมายความว่าในบรรดาค่าใช้จ่ายทั้ง 4 รายการนี้   รายการที่ 2), 3) และ 4) ยังไม่รวมอยู่ในค่าประมูลคลื่น2.1 GHz ที่ประมูลกันไปแล้ว 4.1 หมื่นล้าน/15ปีใช่ไหม?
ตอบ ครับ..ถูกต้อง ต้นทุนค่าคลื่นและโครงข่ายในระบบ3 จีนั้น  ไม่ได้มีแค่ 4.1 หมื่นล้าน/15ปีเท่านั้น การไปดูแค่ต้นทุนรายการ 1) แล้วด่วนสรุปว่าเขากำไรเละเลยจึงเร็วเกินไป มันต้องรวมต้นทุน อื่นๆอีก

ภาพต้นทุนจริงๆ ในระบบ 3 จี เปรียบเทียบกับระบบสัมปทานเดิมน่าจะเป็นดังเช่นตารางนี้


ถาม หมายความว่าข้อมูลปัจจุบันเรายังไม่รู้เลยหรือครับว่า     ระบบใบอนุญาตจะทำให้บริการ 3 จี มีต้นทุนคลื่น-โครงข่ายถูกลงกว่าระบบสัมปทานหรือไม่
ตอบ มันน่าจะถูกลงนะครับ เพราะค่าคลื่นก็ถูกลงระดับหนึ่งแล้วและคงที่เพราะจ่ายเหมาตายตัวด้วย ส่วนจำนวนลูกค้านั้นก็เพิ่มขึ้นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ จุดชี้ขาดมันจะอยู่ที่ค่าโครงข่ายเท่านั้นว่าจะสูงมากหรือไม่ ต่อปัญหานี้ รัฐบาลและ กสทช.ควรร่วมมือกันจัดการให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเดิมของทีโอที และ กสทช.ในราคายุติธรรมแทนที่จะให้เอกชนไปลงทุนใหม่ทั้งหมด  ทำได้อย่างนี้ก็จะสมประโยชน์ประชาชนมากๆ เลย

ต่อปัญหาค่าโครงข่ายที่จะใช้ใน 3 จีนี้ ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคณะกรรมาธิการสภาน่าจะรับหน้าที่รวบรวมและไต่สวนให้กระจ่างให้สาธารณะได้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไรเท่าใดกันแน่

ถาม ถามจริงๆ...อาจารย์ไม่ติดใจการประมูลคลื่น3 จี ที่ กทค.ทำไปในครั้งนี้เลยหรือว่า มันไม่มีการแข่งขันราคากันจริงๆ เลย
ตอบ ผมก็รอฟังคำอธิบายของเขาอยู่ว่าทำไมออกแบบการจัดสรรคลื่นออกมาอย่างนี้แต่ในส่วนปัญหาว่าราคาที่ได้มามันสมเหตุผลหรือไม่ เอกชนกำไรเละเลยหรือ ตรงนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผมเห็นว่าความจริงและความเข้าใจมันยังไม่ครบ และทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำความจริงให้กระจ่างว่า มันกำไรเละจริงไหม? และ กสทช.ควรใช้อำนาจกดเพดานราคาค่าบริการลงมาเพื่อให้ส่วนต่างนี้มันตกแก่ประชาชนเท่าใดหรือไม่ เพียงใด? ตรงนี้ต่างหากคือจุดที่ผมสนใจเป็นพิเศษ เรื่องชี้ขาดทางกฎหมายว่าการประมูลถูกต้องหรือไม่นั้นมันแล้วแต่ ป.ป.ช.กับศาล เขาจะว่ากันไป

ตามระบบใหม่ในปัจจุบันนี้หลักคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว รัฐจะได้ส่วนแบ่งน้อยก็ช่างมัน ระบบใหม่เขาตัดสินกันตรงที่ความยุติธรรมต่อประชาชนคือผู้บริโภคเท่านั้น ว่าแบกรับต้นทุนและราคาที่สมเหตุผลหรือไม่

ถาม ในภายหน้าถ้าเอกชนเขาขอใบอนุญาตได้คลื่นมาทำระบบ3 จี หรือ 4 จี หมดแล้ว แล้วรัฐวิสาหกิจจะอยู่ต่อไปทำไม
ตอบ ทั้งทีโอที และ กสท เขาก็มีคลื่นของเขาอยู่ทั้ง 1800 และ 2.1 GHz เขาก็คิดจะประกอบการทำ 3 จี 4 จี เองเหมือนกันนะคุณ เพราะโครงข่ายที่เอกชนมอบให้ไว้ตามสัมปทานนั้น เขาก็มีอยู่ในมือแล้ว

ถาม มีทางเลือกอื่นอีกไหมตอบ มีครับ...นั่นคือรัฐถอนตัวมาทำหน้าที่ลงทุนและพัฒนาโครงข่ายเท่านั้น ส่วนเอกชนก็ประกอบการขนข้อมูลโดยเช่าใช้โครงข่ายของรัฐต่อไป ไม่ต้องมาลงทุนทำโครงข่ายใหม่ให้สิ้นเปลือง โครงสร้างวิสาหกิจโทรคมนาคมอย่างนี้ ก็คล้ายๆ กับที่เราเคยคิดจะปฏิรูปการรถไฟ ให้รัฐลงทุนดูแลราง สถานี และสัญญาณเท่านั้น ส่วนเอกชนก็ลงทุนเดินรถแข่งกันบนรางที่เช่าใช้จากรัฐวิสากิจอีกทีหนึ่งนั่นเอง

ถ้าทำได้อย่างนี้การลงทุนโครงข่ายก็จะไม่ทับซ้อนฟุ่มเฟือย การแข่งขันของเอกชนก็จะสมบูรณ์ สู้ด้วยฝีมือให้บริการเท่านั้น

ถาม สหภาพรัฐวิสาหกิจเขาจะยอมหรือ?ตอบ นี่เป็นการตัดสินใจทางนโยบาย คุณไปถามรัฐมนตรีไอซีทีดูซิว่าเขาเห็นปัญหานี้ไหมและคิดอะไรอยู่ในหัวแล้วบ้าง

ถาม อาจจะกำลังหมกมุ่นคิดโครงการประชานิยม "โทร.นาทีแรกฟรีทั่วประเทศ" อยู่ก็ได้
ตอบ ถ้าเป็นอย่างนั้น...รัฐบาลนี้ก็บ้าไปแล้ว.

หมายเหตุ

- ต้นทุนบริการ 3 จี จะดูแต่เฉพาะค่าประมูลคือ (1) ไม่ได้  ต้องรวม (2), (3) และ (4) ด้วย จึงจะรู้ว่าเอกชนกำไรเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และหากกำไรจริง กสทช.ควรจะบังคับให้ลดค่าบริการลงเท่าใด ( 20%?) เพื่อมอบส่วนที่ลดลงนี้ให้ตกแก่ผู้บริโภคไม่ใช่ให้ตกแก่บริษัท

- กรณีเป็นไปได้ว่า ต้นทุน 3 จีในค่าโครงข่ายคือ (4) หรือ Z จะสูงมากๆ จนลดราคาให้ประชาชนไม่ได้เลยก็ได้

 

Cradit : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2555 บทความพิเศษ โดย แก้วสรร อติโพธิ

สร้างโดย  -   (29/3/2560 16:15:44)

Download

Page views: 57