ความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อองค์กรที่ได้รับผลกระทบ กรณีแสดงความเห็นต่อสาธารณะ เรื่อง “ประกาศห้ามซิมดับ”โดยใช้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง
โดย...ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.
ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่คงต้องนับถอยหลังกรณีสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2556 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตให้ใช้คลื่นในกิจการโทรคมนาคมภายใต้รอยต่อระหว่างกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่
• สิทธิในสัมปทานไม่หมด กสทช. เข้าไป“ล้วงลูก”ไม่ได้
ปัญหาเรื่องคลื่น1800MHz ที่สัมปทานจะสิ้นสุดนี้ เป็นประเด็นที่ยุ่งยาก เพราะบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ใช้คลื่นนี้มีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบประมาณ 17-18 ล้านเลขหมาย และที่สำคัญช่วงที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุด คู่สัญญาสัมปทานได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กสทช. จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการกระตุ้นให้มีการโอนย้ายเลขหมายหรือจัดให้มีการโอนย้ายครั้งละล๊อตใหญ่ๆ ดังที่มีนักวิชาการบางคนเสนอแนะได้ เพราะหากไปดำเนินการในเรื่องนี้เกินพอดี จะเกิดการครหาทันทีว่า กสทช. ไปเอื้อให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกสัมปทานได้ประโยชน์ ขณะที่ทำให้ฝ่ายรัฐคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน เสียประโยชน์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เรื่องนี้สามารถเห็นได้ชัดจากคำแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่ยื่นเรื่องถอดถอน กสทช. เพื่อให้ยุติการทำหน้าที่ โดยกล่าวหาว่า กสทช. กระทำการถ่ายโอนลูกค้าจากเดิมภายใต้สัญญาสัมปทาน ส่งผลทำให้รัฐเสียหาย ด้วยการเห็นชอบให้เพิ่มช่องทางในการโอนย้ายเลขหมาย เช่น การส่งข้อความ sms และการดำเนินโปรแกรมด้วยวิธี OTA เพื่อไม่ต้องเปลี่ยน SIM Card ทั้งๆ ที่ กสทช. ดำเนินการในกรอบของกฎหมายที่ไม่ได้กระทบสิทธิของคู่สัญญาสัมปทาน ฉะนั้น หาก กสทช. ไปดำเนินการในเรื่องการเร่งการโอนย้ายมากกว่านี้ คงจะถูกฟ้องร้องว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างแน่นอน
• ย้ำอีกครั้ง...! การเร่งประมูลคลื่น 1800 MHz แก้ปัญหาผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบไม่ได้
ส่วนการเร่งจัดสรรคลื่น 1800 MHz ก่อนสัมปทานสิ้นสุด เพียงเพื่อให้มีการประมูลคลื่นโดยเร็ว ขณะที่มีคนจำนวนมากค้างอยู่ในระบบ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ และจะเกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นหรือไม่ ก็ย่อมจะทำให้การจัดสรรคลื่นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน อันจะทำให้ กสทช. ผิดหน้าที่ที่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าการได้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่เป็นเพียงการได้ผู้ที่มีสิทธิในการใช้คลื่นนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความถึงว่าผู้นั้นสามารถเปิดให้บริการได้ทันที เนื่องจากต้องมีขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการกว่าจะให้บริการลูกค้าได้ เช่น ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีในการสร้างโครงข่ายขึ้นใหม่ ติดตั้งเทคโนโลยี นำเข้าและตรวจสอบอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ไม่ได้บัญญัติครอบคลุมไว้ในกรณีเมื่อมีการคืนคลื่นแล้วในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดสรรคลื่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ จะกำกับดูแลระหว่างนี้อย่างไร หากมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ จะเยียวยาปัญหาอย่างไร ถ้ากฎหมายในลำดับพระราชบัญญัติไม่ได้บัญญัติไว้ การที่ กสทช. เข้าไปกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ค้างอยู่ในระบบจะเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่
• ระบุกฎหมายมีช่องโหว่..! ต้องใช้และตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยยึดประโยชน์ผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
กสทช. มองต่างมุมกับนักวิชาการด้านกฎหมายบางกลุ่มที่ตีความและใช้กฎหมายเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษร ขณะที่ กสทช. ยึดประโยชน์ผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง จึงใช้และตีความกฎหมายตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายปกครองให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือผ่าทางตัน เพื่อมิให้บริการสาธารณะหยุดชะงัก แต่นักวิชาการด้านกฎหมายบางกลุ่มมองไปที่การคุ้มครองการแข่งขันเป็นหลัก แล้วจึงค่อยมองไปที่การคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของประชาชน จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความแตกต่างกัน
ในมุมมองของ กสทช. เมื่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีข้อจำกัด เกิดช่องโหว่ กสทช. ผู้ใช้กฎหมายจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้ฐานอำนาจ กสทช. ไว้ คือมาตรา 47 โดยที่หน้าที่ของ กสทช. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้มีเฉพาะขณะที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น แต่คลุมไปถึงทั้งกระบวนการในการจัดสรรคลื่นความถี่ และยังรวมไปถึงการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ฉะนั้น แม้ในขั้นตอนที่ กสทช. ยังไม่ได้ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ กสทช. ก็จะต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงมีฐานอำนาจทางกฎหมายที่ กสทช. จะเข้าไปกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมรวมถึงบริการโทรคมนาคมเพื่อมิให้หยุดชะงักและกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับหลักกฎหมายปกครองที่ว่าบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง ก็ยิ่งเกิดความชัดเจนถึงหน้าที่ที่ กสทช. จะต้องเข้าไปคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ “ซิมดับ”
หน้าที่ของ กสทช. ในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะได้รับบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง สะท้อนออกมาในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 20 ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะหยุดหรือพักการให้บริการไม่ได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด รวมทั้ง ข้อ 24 ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ก็กำหนดหน้าที่เยียวยาผลกระทบผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้มีความต่อเนื่องของการให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากการที่ผู้ใช้บริการที่คงค้างในระบบจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้
ฉะนั้น หาก กสทช. ไปตีความกฎหมายในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด โดยไปมองว่าถ้ากฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ตรงๆ ก็เท่ากับกฎหมายห้ามไม่ให้กระทำ ก็ย่อมจะส่งผลให้ไม่สามารถข้ามพ้นข้อจำกัดของกฎหมาย และย่อมจะทำให้ กสทช. ไม่สามารถใช้กฎหมายในการทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้ ซึ่งย่อมจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง
กสทช. จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด แยกประเด็นเรื่องการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 ที่สัมปทานจะสิ้นสุด ออกจากประเด็นปัญหาการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบ โดยได้เดินหน้าการเตรียมการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ด้วยการร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ศึกษาและเตรียมการในการกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาจัดประมูลให้เหมาะสมตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ กสทช. มีดุลพินิจในการกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบในการกำหนดวันประมูลในช่วงไม่เกินเดือนกันยายน 2557 ตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบเวลาการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เป็นครั้งแรก จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีการเลื่อนการจัดประมูลคลื่น 1800 ตามที่มีผู้โจมตีว่า กสทช. เลื่อนประมูลคลื่น 1800 ทำให้ประเทศชาติเสียหายแต่อย่างใด
• “ประกาศห้ามซิมดับ”มีผลใช้บังคับแล้ว เดินหน้าเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน
สำหรับประเด็นการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่น 1800 MHz ที่สัมปทานกำลังจะสิ้นสุดนั้น เพื่อมิให้เกิดสภาวะสุญญากาศหลังสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 กสทช. ได้พิจารณาและพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุมแล้ว จึงได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศห้ามซิมดับ) ซึ่งเป็นมาตรการจำเป็นที่จะต้องกำหนดโดยไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่จะได้รับผลกระทบจากสัมปทานสิ้นสุด โดยประกาศห้ามซิมดับนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2556
• บริบทของ“กสทช.-นักวิชาการ”ต่างกันตรงที่ความรับ“ผิด-ชอบ”ตามกฎหมายต่อการทำหน้าที่
ผู้เขียนเห็นว่าการมีความคิดเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันในเรื่องการออกประกาศห้ามซิมดับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในมุมมองของ กสทช. ในฐานะที่เป็น regulator และเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ต่อผลของการตัดสินใจ ย่อมต้องมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่ต้องดำเนินการ เกี่ยวกับคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะต้องดำเนินการในอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งต่างจากนักวิชาการ ที่แสดงความเห็นตามความเข้าใจ และตามภูมิความรู้ที่มี ตลอดจนข้อมูลที่ได้รับ แต่ไม่มีหน้าที่ และความรับผิดชอบตามกฎหมายเช่นเดียวกับ กสทช. อย่างไรก็ตามแม้จะมีนักกฎหมายบางคนไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช. ออกประกาศห้ามซิมดับ แต่ก็ยังมีนักกฎหมายและนักวิชาการเป็นจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแนวทางการออกประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. ดังจะเห็นจากกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเต็มรูปแบบตามกฎหมายที่ กสทช. มอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. จัดระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2556 โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ซึ่งมีการกำหนดประเด็นรับฟังที่มีความหลากหลาย รวมทั้งประเด็นฐานอำนาจทางกฎหมาย โดยมีผู้รับผิดชอบนำเสนอ มีการเชิญผู้มีส่วนได้เสียและนักวิชาการกลุ่มต่างๆ มาร่วมแสดงความเห็น ซักถาม และจัดคณะผู้รับผิดชอบตอบคำถาม
ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะชี้ชัดในการหนุน กสทช. เดินหน้าประกาศห้ามซิมดับเต็มสูบ โดยในประเด็นเรื่องฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการออกประกาศห้ามซิมดับ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนถึง 2,728 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.80 เห็นด้วยว่า กสทช. มีฐานอำนาจทางกฎหมาย โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 8 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.30 รวมทั้งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นนี้ก็มีผู้แสดงความเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกทั้งสามท่านได้พิจารณาร่วมกันโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ก็มีความเห็นพ้องตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจที่จะออกประกาศห้ามซิมดับ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนและการคุ้มครองผู้บริโภคตลอดจนความต่อเนื่องของการให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นนิติวิธีในการใช้และการตีความตามหลักกฎหมายมหาชน
ฉะนั้น จึงมิได้หมายความว่าจะมีแต่นักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดค้านประกาศห้ามซิมดับ และหากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนักกฎหมายที่คัดค้านประกาศห้ามซิมดับ จะเป็นผู้กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งความเห็นทางกฎหมายต่างฝ่ายต่างก็สามารถหยิบยกเหตุผลโต้แย้งในความไม่สมเหตุสมผลของการวิจารณ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น โดยผู้เขียนเห็นว่าหากมีการแปลความกฎหมายได้หลายทาง และแต่ละทางก็มีความเสี่ยง ในบทบาทของ กสทช. ก็จำเป็นจะต้องใช้และตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก มิใช่มุ่งใช้และตีความกฎหมายโดยตั้งโจทย์ที่ข้อจำกัดของกฎหมายเป็นหลัก และใช้กฎหมายเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรโดยไม่ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางออก จนทำให้ส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ในกรณีที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด และไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานได้โดยผลของกฎหมาย ทำให้ผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องตัดสินด้วยความรอบคอบและใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
กระบวนการพิเคราะห์ข้อกฎหมายและหาทางออกเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ด้วยการทำงานในเชิงบูรณาการทางด้าน สหวิทยาการอันประกอบด้วยคณะนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ และคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม ที่ได้ระดมความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ผสมผสานกับข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงนำไปสู่มาตรการทางกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่ง กสทช. ได้ใช้ดุลพินิจที่เห็นว่าดีที่สุดและเป็นธรรมที่สุดแก่ประชาชน ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว
• ยืนยันทฤษฏี IN-PUT เท่ากับ OUT-PUT ข้อมูลคลาดเคลื่อนย่อมวิเคราะห์คลาดเคลื่อน
ผู้เขียนขอยืนยันและยังคงมีความเห็นแบบเดิมว่า การแสดงความคิดเห็นใดๆ หากได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ผลของการแสดงความคิดเห็นนั้นๆ ย่อมไม่ครบถ้วนและคลาดเคลื่อน ซึ่งหากการแสดงความคิดเห็นกระทำโดยไม่มีอคติก็จะไปตำหนินักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อมูลที่จำกัดนั้นไม่ได้ เนื่องจากได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้เขียนเองแม้จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางกฎหมายจากต่างประเทศและมีประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายและในทางวิชาการ โดยผ่านงานทางด้านกฎหมายจากในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมานับไม่ถ้วน รวมทั้งรับราชการเป็นผู้พิพากษามา 12 ปี สอนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2538 และทำงานวิจัยทางกฎหมายมามากมาย หากศึกษากฎหมายโทรคมนาคมเฉพาะตัวบทกฎหมายโดยไม่ได้เป็นผู้ใช้กฎหมายโทรคมนาคมเองโดยตรง ทั้งไม่ทราบข้อมูลที่ครบถ้วนในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านโทรคมนาคม ตลอดจนแนวปฏิบัติในต่างประเทศและระหว่างประเทศ เช่นนี้ ก็คงจะมีมุมมองเกี่ยวกับการเยียวยาปัญหาเรื่องซิมดับที่จำกัดแบบเดียวกับมุมมองของนักวิชาการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานทางด้านโทรคมนาคมโดยตรง เพราะประเด็นเรื่องโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้การบูรณาการในเชิงสหวิทยาการในการแก้ปัญหาดังกล่าว
สำหรับในประเด็นที่มีนักกฎหมายบางคนตั้งทฤษฎีว่า การที่ กสทช. จะอ้างหลักความต่อเนื่องของการให้บริการได้ จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมรายอื่นในตลาดที่สามารถจัดบริการให้แก่ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ได้เลย หากในตลาดยังมีผู้ให้บริการรายอื่นทดแทนกันได้นั้น ก็ไม่สามารถอ้างหลักความต่อเนื่องของการให้บริการได้
ด้วยความเคารพ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นออกมาดังๆ ว่า “ไม่เห็นด้วย” การไปแปลความหน้าที่ในการคุ้มครองเพื่อทำให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างแคบ โดยไปสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมและละเลยต่อความเดือดร้อนของผู้บริโภค ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หากไปแปลความหลักการให้บริการสาธารณะต่อเนื่องอย่างแคบ ก็เท่ากับไปแปลหลักกฎหมายปกครองที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะส่งผลให้ไปใช้กฎหมายในทางริดรอนสิทธิของประชาชน เนื่องจากหากใช้ความพยายามในการหาทางเลือกที่จะเยียวยาปัญหาซิมดับก็จะสามารถใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ไม่ให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อนได้ แต่กลับไม่ทำ โดยไปเลือกแนวทางที่แปลความหลักกฎหมายอย่างแคบไปริดรอนสิทธิของประชาชน
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ในกรณีนี้ กสทช. ต้องมองไปที่สิทธิของผู้ใช้บริการที่สัมปทานจะสิ้นสุดว่าบริการที่เขาเคยได้รับกำลังจะสิ้นสุด และความเดือดร้อนที่เขาจะได้รับหากบริการสาธารณะที่เขาได้รับกำลังจะสิ้นสุด รวมทั้งความรับผิดชอบที่ กสทช. มีต่อผู้บริโภคนั้น ส่วนบริการของค่ายอื่นไม่ใช่บริการที่จะเปิดต่อเนื่องกับบริการสาธารณะที่สัมปทานจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติ หากในการโอนย้ายก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด กสทช. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้อย่างเต็มที่โดยผลจากการที่สัมปทานได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะมีการเร่งจัดประมูล แต่ผลของการจัดประมูลคือการได้สิทธิในการใช้คลื่นเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าได้ผู้ชนะการประมูลแล้วจะสามารถเปิดให้บริการได้ทันที แต่จะต้องมีขั้นตอนที่ผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการก่อนจะเปิดให้บริการ ขณะที่การเลือกใช้เทคโนโลยีของผู้ชนะการประมูลมีแนวโน้มที่จะนำคลื่น 1800 ไปให้บริการ 4G ฉะนั้น ไม่ว่าในกรณีใดๆ ย่อมไม่สามารถยัดเยียดผู้ใช้บริการ ไปให้ผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทั้งหมด และบริการของแต่ละค่ายย่อมไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้โดยสับเปลี่ยนได้โดยอัตโนมัติ เพราะลักษณะของการให้บริการโทรคมนาคมประกอบด้วยคุณสมบัติและรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างกัน โดยผู้ใช้บริการต้องตัดสินใจเลือกเอง กสทช. จะไปยัดเยียดไปไว้ที่ค่ายหนึ่งค่ายใดโดยผู้ใช้บริการไม่ยินยอมไม่ได้
นอกจากนี้ หากจะไปบอกว่าให้เป็นเรื่องของผู้ใช้บริการเองที่จะเลือกที่จะไปโอนย้ายไปใช้บริการของผู้ประกอบการรายอื่น ทางเลือกผู้ใช้บริการก็มีข้อจำกัด เนื่องจากบริการ 3G ของค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ยังไม่สามารถเปิดบริการได้เต็มรูปแบบ การโอนย้ายไปใช้บริการ 2G หากจะย้ายไปใช้บริการ 2G ภายใต้สัมปทานคลื่น 900 MHz สัมปทานก็จะสิ้นสุดในปี 2558 ถ้าย้ายไปค่ายนี้ อีกไม่นานก็จะต้องย้ายไปค่ายอื่น ฉะนั้น คงเหลือทางเลือกเดียว ที่จะต้องย้ายไปผู้ประกอบการอีกราย ที่ให้บริการ 2G ภายใต้สัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 2G อยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีการโอนย้ายจากจำนวนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากที่ค้างอยู่ในสัมปทาน 1800 ที่จะหมดอายุในวันที่ 15 กันยายน 2556 ก็คงจะเกิดความโกลาหล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่นักวิชาการกฎหมายกลุ่มนี้เป็นห่วงคือการกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
• การโอนย้ายผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 อย่างไร้สติ อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดบริการ 2G เพียงเจ้าเดียว
ผู้เขียนเห็นว่า หากทำตามข้อเสนอของนักวิชาการกฎหมายที่ให้ใช้หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ โดยแปลความอย่างแคบ จะส่งผลทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดการให้บริการ 2G ซึ่งจะขัดต่อหลักการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และการละเลยประชาชนผู้ใช้บริการเช่นนี้ก็จะทำให้ กสทช. กระทำผิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในการที่จะต้องกำกับดูแลกิจการในความรับผิดชอบให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งนอกจาก กสทช. จะถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว กสทช. ยังอาจจะถูกขนานนามว่าเป็น regulator ที่เห็นแก่ตัวที่สุดในโลกก็ได้
การออกประกาศห้ามซิมดับเท่ากับเป็นการยืนยันว่าหลังจาก 15 กันยายน 2556 คู่สัญญาสัมปทานหมดสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ตามสัมปทานอีกต่อไป คลื่นความถี่ย่านนี้ได้กลับมาอยู่ในการบริหารจัดการของ กสทช. แล้ว หากคลื่นไม่กลับมาอยู่ในการบริหารจัดการของ กสทช. และยังคงอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว กสทช. ย่อมไม่มีอำนาจในการออกประกาศเพื่อกำหนด “หน้าที่” ให้คู่สัญญาสัมปทานดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงต้องกำหนดมาตรการเยียวยาทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบในช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยเมื่อผู้ใช้บริการมี “สิทธิ” ในการได้รับบริการโทรคมนาคมที่เขาเคยได้รับอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุดหยุดลงในช่วงเวลาที่ประกาศนี้คุ้มครอง จึงต้องกำหนดให้เป็น “หน้าที่” ของผู้ให้บริการที่จะต้องไม่หยุดการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งหาก กสทช. ไม่กำหนดมาตรการเยียวยาทางกฎหมายให้ชัดเจน จะเกิดช่วงสุญญากาศโดยผลของกฎหมาย ที่ผู้ให้บริการเองก็จะลังเลใจว่าการให้บริการสาธารณะจะสามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือจะต้องยุติการให้บริการไปทันที ซึ่งหากไม่มีประกาศห้ามซิมดับ ก็มีแนวโน้มว่าการให้บริการจะต้องยุติลงทันที ซึ่งจะส่งผลให้ซิมดับลงทันทีเช่นกัน
• แนะควรวิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์ หากวิจารณ์ผิดพลาดส่งผลเสียหายต่อองค์กรอื่นก็ควรแสดงความรับผิดชอบ
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการนำเสนอความเห็นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางกฎหมายในแง่มุมทางวิชาการเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการชี้ว่าผลการตัดสินใจหรือการใช้ดุลพินิจเลือกแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่กระทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นในกรณีที่มีกลุ่มนักวิชาการทางกฎหมายมาชี้ว่า การออกประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ โดยตำหนิว่า กสทช. ไม่ได้เตรียมการใดๆ ทั้งๆ ที่ทราบตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่าสัมปทานจะสิ้นสุดเมื่อใด ทั้งมากล่าวหาว่ามติของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการออกประกาศเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการบางราย ซึ่งล้วนส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์และชื่อเสียงขององค์กร กสทช.
เช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจตามกฎหมายขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ แม้กลุ่มผู้วิจารณ์จะอ้างว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ แต่กลุ่มผู้วิจารณ์เองก็ควรจะทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ความเห็นที่ออกสู่สาธารณะมีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นกลาง รวมทั้งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หากเรื่องที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดหรือไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ หากความเห็นของคณะบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือแนบชิดกับสถาบันใด ก็ยิ่งสมควรจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้ส่งผลเป็นการแทรกแซงหรือกดดันกระบวนการตัดสินใจขององค์กรใดๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์อันมหาศาลที่จะทำให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบจากผลของการแทรกแซงนั้น
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า กสทช. ในฐานะองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็จำเป็นจะต้องศึกษาแนวคิดและความเห็นของกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่ามีข้อเสนอแนะที่สมเหตุสมผล มีความเป็นกลางทางวิชาการ มีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธฺภาพยิ่งขึ้น และในทางกลับกันก็มีสิทธิที่จะวิจารณ์ติชมแนวคิดและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงออกสู่สาธารณชนดังกล่าว รวมทั้งจำเป็นต้องชี้แจงในกรณีที่นักวิชาการผู้วิพากษ์วิจารณ์มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน ตลอดจนจำเป็นจะต้องปกป้องเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีขององค์กรเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์กลับเช่นนี้ แน่นอนไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนักวิชาการผู้วิจารณ์
ถ้าการวิจารณ์ในมุมกลับสามารถชี้ให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลและความคลาดเคลื่อนในผลการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ นักวิชาการนั้นๆ ก็ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งต้องระมัดระวังอย่างมากในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นต่อสาธารณชนในโอกาสต่อไป
Download
Chart1800modify.pdf
ตารางถือครองคลื่น.docx
บทความ-การรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กร-(Final).doc
สร้างโดย - (21/3/2560 16:29:07)