สำนักงาน กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” จัดระเบียบคุ้มครองผู้บริโภค เร่งตรวจสอบเก็บหลักฐานสื่อวิทยุ–ทีวีใกล้ชิด 24 ชั่วโมง ประสาน อย. - สตช. ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด
วันนี้ (9 เม.ย. 57) พลเอก ชูชาติ สุขสงวน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา พลอากาศเอก สุทธิพล ศรีกังวาน ที่ปรึกษา ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา พลตำรวจตรี ประยุทธ ชวนะวงศ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตรี บำรุง ศรีเสวก รองผู้อำนวยการ สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และนายปรีชา ส่งกิตติสุนทร ผู้ช่วยราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ เข้าร่วมในพิธีเปิดศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 (สายลม ) กรุงเทพมหานคร
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี
โดยระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การตรวจสอบโดยระบบซอฟต์แวร์ และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบวินาทีต่อวินาที ซึ่งระบบการตรวจสอบนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเทียบเคียงเสียง ที่เรียกว่า Audio Finger Print จึงสามารถรายงานการออกอากาศทั้งหมดของโฆษณา หรือเนื้อหาที่กำหนดให้ตรวจสอบ ว่ามีการออกอากาศที่ช่อง หรือรายการใด ในช่วงเวลาใด หรือจำนวนการออกอากาศเท่าไหร่ พร้อมทั้งจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณา (ดาต้าเบส) ไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ เป็นเวลา 60 วัน
นายฐากร กล่าวว่า กรณี พบข้อมูลที่เผยแพร่ออกอากาศนั้นผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกรณีหมิ่นประมาท หรือโฆษณาเกินจริง โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงเผยแพร่โฆษณาที่ไม่ได้ผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงาน กสทช. จะเป็นศูนย์กลางจัดส่งข้อมูลที่รวบรวมเป็นรายงานประสานต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวต่อไป เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
สำหรับศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ และโทรทัศน์ ที่ผิดกฎหมาย นี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้า หรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการโฆษณาสินค้า ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย
สร้างโดย - (15/3/2560 10:13:31)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 128