กฎหมาย กสทช. เอื้อมไปไม่ถึง…! จัดประมูลวงโคจรดาวเทียม “แค่ฝันหวาน”
สืบเนื่องจากการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยว่า เรื่องกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นหน่วยงานใด มีบทบาท อำนาจรับผิดชอบ ระหว่างกระทรวง ICT กับ กสทช. และประเด็นที่กล่าวถึงว่าจะต้องมีการประมูลคลื่นความถี่และวงโคจรของดาวเทียมสื่อสารหรือไม่อย่างไร
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การบริหารเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ทาง กสทช.มีหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 25544 และทำหน้าที่ประสานคลื่นความถี่ทั้งในและนอกประเทศตามมาตรา 27 (14) หากมีการใช้คลื่นภายในประเทศจะต้องดำเนินการตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ส่วนบทบาทกระทรวง ICT เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ส่วนในเรื่องดาวเทียมจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานอำนวยการในองค์กร ITU หรือเรียกว่า Administration of Thailand ในองค์กร ITU ซึ่งมีหน้าที่ในการยื่นขอสิทธิในนามประเทศไทยเกี่ยวกับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม และคลื่นความถี่ตามกระบวนการขั้นตอนของ ITU ในนามของรัฐบาลไทย ที่เรียกว่า Satellite Network Filing
ดังนั้น โดยหลักการที่จะใช้วงจรดาวเทียมของประเทศไทยต้องมีองค์ประกอบหลัก 2 ประการ คือ การมีสิทธิ์เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายไทยและอยู่ภายใต้หน้าที่ของ กสทช. และอีกประการที่เหลือคือจะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่ง “วงโคจรดาวเทียม” และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ITU ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ICT ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยใน ITU
ดังนั้นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. จึงมีเฉพาะในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ส่วนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งวงโคจรดาวเทียม การอนุญาตให้ใช้วงโคจรดาวเทียม ตลอดทั้งการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม เป็นกรอบอำนาจของกระทรวง ICT มิได้อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แต่เป็นข้อตกลงร่วมของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของ ITU
ประธานอนุกรรมการฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าตำแหน่งวงโคจรและความถี่ดาวเทียมในอวกาศ ไม่ได้เป็นสิทธิขาดหรืออยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นทรัพยากรร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งทุกประเทศมีสิทธิใช้งานเท่าเทียมกันตามธรรมนูญของ ITU และก่อนที่ประเทศใดจะนำดาวเทียมขึ้นใช้งานจะต้องแจ้งความประสงค์การใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไปยัง ITU ว่าต้องการใช้วงโคจรตำแหน่งใดและใช้ความถี่ใด หลังจากนั้นก็ต้องส่งข้อมูลรายละเอียดทางเทคนิคของดาวเทียม และดำเนินการเจรจาประสานความถี่กับประเทศต่างๆ ตามขั้นตอนที่ประเทศต่างๆ ยึดถือปฏิบัติและสอดคล้องกับข้อบังคับของ ITU ดังนั้นในการใช้งานวงโคจรและคลื่นความถี่ในอวกาศของผู้ประกอบการดาวเทียมเอกชน จะต้องได้รับการรับรองสิทธิ คือ ได้รับการอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายของในแต่ละประเทศ เพื่อร้องขอให้หน่วยงาน (ประเทศไทยได้แก่กระทรวง ICT) ยื่นเอกสารการจองขอให้สิทธิในวงโคจรไปยัง ITU เพื่อให้ได้มาซึ่งวงโคจรและคลื่นความถี่ดาวเทียมตามกฎข้อบังคับของ ITU และมีสิทธิในการให้บริการโทรคมนาคมตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของใบอนุญาตซึ่ง กสทช. มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรและคลื่นความถี่ ได้มาจากการประสานตามข้อบังคับ ITU และผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไม่ได้ขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ (ภายในประเทศ) จาก กสทช. จึงไม่ต้องดำเนินการประมูลตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 แต่อย่างใด
กฎข้อบังคับ ของ ITU ไม่ได้ระบุการจำกัดสิทธิใดๆในการส่งเอกสารการจองสิทธิการใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม หมายถึงมีสิทธิส่งได้ไม่จำกัด แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎระเบียบของ ITU ที่อยู่บนพื้นฐานของการมาก่อนมีสิทธิก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการ (รายเดิม หรือ รายใหม่) สามารถขอให้หน่วยงานของรัฐ (กระทรวง ICT) ยื่นเอกสารข้อมูลทางเทคนิคไปยัง ITU เพื่อจองสิทธิการใช้งานวงโคจรดาวเทียมได้มากกว่าหนึ่งวงโคจร แต่การได้มาซึ่งวงโคจรและคลื่นความถี่ดาวเทียมในอวกาศ ขึ้นอยู่กับการประสานงานและข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นสำคัญ โดยผู้ประกอบกิจการดาวเทียมทุกราย สามารถได้รับสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะขอให้หน่วยงานของรัฐ (กระทรวง ICT) ดำเนินการยื่นสิทธิ์ขอใช้วงโคจรและคลื่นความถี่ต่อ ITU เพื่อให้ประเทศไทยมีช่องสัญญาณดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
ขอเรียนและซักซ้อมความเข้าใจว่าการส่งดาวเทียมไปในอวกาศ เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น การออกประกาศหรือกฎเกณฑ์ใดๆในเรื่องที่เกี่ยวกับดาวเทียมในประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการอวกาศ พ.ศ.2552 ซึ่งมีองค์กรระดับนโยบายเรียกว่า คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และมีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และพิจารณาเสนอแผนงบประมาณด้านการบริหารกิจการอวกาศของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี โดยสรุปหากประเทศต้องการเปิดเสรีกิจการดาวเทียมสื่อสาร ( Open Sky Policy) หรือจะให้มีนโยบาย Landing right ก็ต้องเสนอขอความเห็นชอบผ่านคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติก่อน และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตัดสินใจต่อไป
ประธานคณะอนุกรรมการฯ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มีกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มมองว่ากิจการดาวเทียมของไทยในปัจจุบันมีผู้ให้บริการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมอยู่เพียงรายเดียว( บริษัทไทยคม) ทำให้ค่าบริการ (วงจรเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม) มีราคาสูง เพราะถูกผูกขาดอยู่เพียงรายเดียว ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาดังกล่าว จึงควรใช้วิธีการประมูลตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553นั้น เป็นการสรุปที่ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงในรายละเอียดอย่างเพียงพอ และอาจไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดจะมีมากมาย และมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในฐานะประเทศสมาชิกของ ITU ซึ่งเป็นภารกิจของหน่วยงานของรัฐ และองค์กรอิสระ หรือองค์กรกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง จะต้องมาร่วมมือกัน เพื่อพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยให้ก้าวหน้าและเจริญเติบโต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป
อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ว่ามุมมองของนักวิชาการกลุ่มนี้แม้จะมีเจตนาดีที่จะช่วยชาติ แต่มองปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่ที่ถูกต้องไปขับเคลื่อนในกรอบนโยบายของรัฐ ถ้าต้องการเปิดเสรีจริงและต้องการสนับสนุนให้มีการส่งดาวเทียมไปสู่อวกาศเยอะๆ จะต้องทำให้การส่งดาวเทียมไปอวกาศทำได้ง่าย ใครขอมาและมีความพร้อมก็ต้องให้เขามีสิทธิไปขอวงโคจร การบอกว่าต้องการเปิดเสรีดาวเทียมให้มีการแข่งขันเพื่อประโยชน์ผู้บริโภค แต่กลับเสนอให้ประมูลวงโคจร จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง สะท้อนถึงความล้มเหลวในแนวคิด ซึ่งไม่เข้าใจบริบทในเรื่องนี้ หรือไม่ก็เป็นการอยากได้ในหลายๆสิ่งพร้อมกัน คืออยากได้ทั้งมีดาวเทียมเยอะๆ อยากให้รัฐมีรายได้เยอะๆ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ จึงทำให้การขับเคลื่อนไร้ผลและผิดทาง
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ และเคยดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง ICT ดูแลเรื่องกิจการอวกาศในส่วนกระทรวง ICT รับผิดชอบ กล่าวตอนท้ายว่า ...ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการตรากฎหมายคลื่นความถี่ที่ผิดพลาดอย่างมาก และควรเร่งแก้ไขอย่าให้พิกลไปมากกว่านี้ รวมทั้งต้องเร่งมีกฎหมายดาวเทียมสื่อสาร หากต้องการให้กิจการดาวเทียมของประเทศไทยมีความเข้มแข็งจะต้องสร้างหน่วยงานของรัฐใหม่ขึ้นมากำกับดูแลกิจการดาวเทียมเป็นการเฉพาะแบบครบวงจรและเป็นระบบโดยไม่ได้เน้นเรื่องการประมูล รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เพราะหากว่าเรื่องอะไรๆก็ประมูล ทั้งประมูลคลื่น และจะประมูลวงโคจรกันอีก การไปออกกฎหมายบังคับให้ประมูลคลื่นกรณีโทรคมนาคมนั้น ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นและเดินมาผิดทาง เพราะไม่ได้เน้นให้ใช้วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดสรรคลื่น สิ่งนี้ก็ผิดมากพอแล้ว การเรียกร้องจะให้ประมูลวงโคจรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข้อเรียกร้องที่อยู่นอกกรอบอำนาจตามกฎหมายของ กสทช. จึงเป็นเรื่องที่นักวิชาการกลุ่มนี้กำลังทำผิดซ้ำสอง
Download
กรณีดาวเทียม.doc
สร้างโดย - (15/3/2559 11:06:24)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 1879