กทค. มีมติไม่ขยายมาตรการเยียวยา แต่รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ซิม 900 ยังใช้งานต่อไปตามที่ ทรูเสนอ และมีมติให้สำนักงานออกคำสั่งให้การโอนย้ายลูกค้าที่ค้างในระบบ 6 แสนรายให้แล้วเสร็จโดยด่วน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (8 มี.ค. 2559) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติไม่อนุมัติให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ออกไปอีก โดยให้ยึดตามมติที่ประชุม กทค. เดิมว่า เมื่อ กทค. ได้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้ว มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศฯ ดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดลง
ที่ประชุม กทค. รับทราบแนวทางที่บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เสนอให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด สามารถใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 10 MHz ในส่วนของบริษัท ต่อไปได้อีก 3 เดือน เพื่อให้ลูกค้า 2G สามารถเปลี่ยนไปใช้ซิมใหม่ได้โดยยังคงใช้เบอร์เดิม โดย เอไอเอส จะต้องจ่ายค่าเช่าใช้งานคลื่นความถี่จำนวน 450 ล้านบาทต่อเดือนให้กับบริษัท และให้สำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพเชิญประชุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)     มาเจรจาตกลงกันภายใต้กรอบของกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ในการเข้าคุ้มครองผู้ใช้บริการที่จะได้รับผลกระทบจากการยุติการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 900 MHz เนื่องจากการให้บริการในคลื่นดังกล่าวจะสิ้นสุดลง หากทียูซีได้รับใบอนุญาตฯ ในวันที่ 14 มี.ค. 2559 นี้ ทั้งนี้ ตามกรอบการทำงานของ กทค. ให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งหมด 20 MHz และหากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่แล้ว ให้รีบนำเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาแนวทางอีกครั้งหนึ่ง โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 มี.ค. 2559 เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. อีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค. 2559 เวลา 9.30 น.
    นอกจากนี้ ที่ประชุม กทค. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ออกคำสั่งทางปกครองให้บริษัท แอดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทรเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค
ไตรเน็ต จำกัด โอนย้ายลูกค้าไปยังบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหม่โดยด่วน เนื่องจากเหตุแห่งการปฏิเสธการโอนย้ายของบริษัท แอดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทรเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค
ไตรเน็ต จำกัด ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิเสธการโอนย้ายทั้ง 8 ประการ ตามที่กำหนดในข้อ 4.9 ของเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งยังส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง และให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการตรวจสอบว่ากระบวนการขอโอนย้ายเลขหมายของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ถูกต้องตามที่ได้มีการร้องเรียนมาหรือไม่

IMG_9419-(1).jpgIMG_9430.jpg

Download

สร้างโดย  -   (14/3/2559 16:38:33)

Download

Page views: 84